ถ้าผมเป็นกุนซือคู่ต่อสู้ ผมก็จะเล็งพื้นที่ฝั่ง เทรนต์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ นั่นแหละในการทำร้ายลิเวอร์พูล
เพราะวิธีการเล่นของเทรนต์ และพื้นที่เกมรับฝั่งขวาของทีมหงส์แดงคือจุดที่น่าจู่โจมมากกว่าฝั่งซ้าย
ทั้ง เทรนต์ และ แอนดี้ โรเบิร์ตสัน ต่างก็เป็นฟูลแบ๊กที่เติมขึ้นไปเล่นเกมรุกในพื้นที่สุดท้ายเหมือนกัน ไปจนถึงสุดเส้นหลังหรือทะลุเข้าเขตโทษได้เหมือนกัน แต่ความแตกต่างหนึ่งอยู่ตรงที่เพื่อนร่วมทีมที่ช่วยประคองทั้งคู่ไม่เหมือนกัน
ฝั่ง เทรนต์ มี โมฮาเหม็ด ซาลาห์ จอร์แดน เฮนเดอร์สัน และ โจ โกเมซ (หรือ โฌแอล มาติป คนใดคนหนึ่ง)
ฝั่ง ร็อบโบ้ เคยมี ซาดิโอ มาเน่ ที่ตอนนี้เปลี่ยนเป็น หลุยส์ ดิอาซ จอร์จินิโอ ไวจ์นัลดุม ที่ตอนนี้เปลี่ยนเป็น ติอาโก้ อัลกันตาร่า และ เฟอร์กิล ฟาน ไดค์
ในเกมทั่วๆ ไปที่ต้องพบกับการบีบสูงอย่างเข้มข้นและมีประสิทธิภาพของลิเวอร์พูล การเล่นงานทีมหงส์แดงเป็นเรื่องยากมากเพราะเมื่อลิเวอร์พูลเสียบอล พวกเขาจะรุมแย่งมันกลับมาในทันที
บอลระลอกสอง ระลอกสาม เป็นของลิเวอร์พูลเสมอจากการเล่นเพรสซิ่งที่ดุดัน รุมไล่แย่งตั้งแต่ตัวรุก แนวรับยังดันสูงขึ้นมาถึงครึ่งสนามเพื่อขึงพื้นที่ให้แน่นเข้าไปอีก ช่วงชิงบอลที่อาจทะลักออกมาให้กลับไปอยู่ในความครอบครองครั้งแล้วครั้งเล่า
โดยปกติแล้วมันก็จะเป็นอย่างนี้ เราจะได้เห็นนักเตะของ เจอร์เก้น คล็อปป์ ได้ครองบอลลุยเข้าใส่คู่แข่งอย่างต่อเนื่อง เดี๋ยวก็มา เดี๋ยวก็มา บอลที่เสียไปหรือถูกสกัดทิ้งก็คล้ายเตะอัดกำแพง ยังไม่ทันพักเหนื่อยก็ต้องมาตั้งรับอีกแล้ว
ในช่วงที่เครื่องยนต์ของลิเวอร์พูลทำงานเต็มสูบ มันก็จะเป็นภาพแบบนี้ หลายครั้งที่ดูๆ ไปยังอดเห็นใจกองหลังฝ่ายตรงข้ามไม่ได้
เพราะฉะนั้น การตีโต้ทีมหงส์แดงนั้น คุณมีเวลาตัดสินใจไม่มากนักหรอก หนึ่งคือคุณต้องเอาตัวรอดจากการเพรสซิ่งอันโหดเหี้ยมของพวกเขาให้ได้ก่อน สองคือเมื่อหลุดมาได้แล้วคุณต้องทำให้แม่นและเฉียบขาดที่สุดกับโอกาสที่ได้มา
ต้องทำให้เร็วที่สุด แม่นยำที่สุด และเลือกช่องที่มีโอกาสที่สุด
ช่องทางเลือกของการโต้กลับมันก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไรมากหรอก มันก็มีแค่สามช่องนั่นแหละ
ซ้าย - ขวา - กลาง
อันที่จริงเมื่อหลุดการเพรสซิ่งมาได้ย่อมหมายถึงโอกาสที่เปิดขึ้นแล้ว ช่องไหนว่างที่สุดก็เลือกยัดเข้าช่องนั้นไปเลย เพราะแนวรับทั้งแนวของลิเวอร์พูลยืนสูงขึ้นมาแล้ว ขณะที่ฟูลแบ๊กขึ้นไปสูงยิ่งกว่าอาจจะอยู่แถวๆ กรอบเขตโทษด้านหน้านู่น
แต่การปักหลักอยู่ของ เฟอร์กิล ฟาน ไดค์ ที่ครอบคลุมเกมรับตรงกลางและฝั่งซ้ายทำให้การเลือกพื้นที่มีแนวโน้มว่าจะเจาะไปทางขวาเป็นธรรมดา
พื้นที่หลังแนวรับฝั่งซ้ายและขวาโล่งเหมือนกัน แต่ความสะดวกในการโจมตีไม่เหมือนกัน
ระหว่างฝั่งที่มี ฟาน ไดค์ กับฝั่งที่มี โกเมซ/มาติป เพียงสัญชาตญาณก็บอกเราอยู่แล้วว่าบอลควรถูกวางไปตรงไหนมากกว่ากัน
ถ้าเป็นโกเมซอาจได้เรื่องความเร็ว แต่ยังขาดความนิ่งและหนัก ถ้าเป็นมาติปแม้ทางบอลจะดีกว่าแต่ช้ากว่า อีกทั้งสไตล์การเล่นยังเป็นคนพาบอลขึ้นมาสูงถึงในแดนคู่ต่อสู้ มีโอกาสหลุดตำแหน่งขึ้นไปอีก
นั่นคือจังหวะโต้กลับเร็วที่เหลือพื้นที่มากมายหลังแนวรับในการโจมตี ขณะที่ในโอกาสเปิดทั่วๆ ไป ความสามารถในการสอดซ้อนเกมรับทางขวาของลิเวอร์พูลก็ยังดูด้อยกว่าด้านซ้าย เฮนเดอร์สันช่วยได้มากตรงนี้ก็จริงแต่ในภาพรวมก็ยังเป็นรองฝั่งซ้ายที่มีทั้งฟาน ไดค์-ไวจ์นัลดุม-มาเน่ (ปัจจุบันเป็น ฟาน ไดค์-ติอาโก้-ดิอาซ) คอยประสานงานซึ่งเพียงแค่ฟาน ไดค์ คนเดียวก็ช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้เยอะ
ช่วงที่มาเน่ยังอยู่ดาวเตะเซเนกัลยังวิ่งลงมาแท็กทีมกับโรเบิร์ตสันได้อีกหลายต่อหลายครั้ง จุดนี้การช่วยเกมรับของมาเน่โดดเด่นกว่าซาลาห์ หรือกระทั่งในเวลานี้การช่วยเกมรับของดิอาซก็ทำได้ไม่เลว
จะว่าซาลาห์ขี้เกียจหรือไม่ยอมลงมาช่วยเพื่อนก็คงไม่ใช่ มันเป็นแท็คติกของคล็อปป์ที่ให้ซาลาห์ค้ำแดนบนในอัตราส่วนที่มากกว่าเกมรุกอีกฟาก เมื่อบอลกลับมาเป็นของทีมอีกครั้ง ดาวเตะอียิปต์นั่นแหละจะเป็นตัวเป้าให้เพื่อนทิ้งบอลให้ เปลี่ยนเกมรับเป็นเกมรุกฉับพลัน
เพราะฉะนั้นวิธีการเล่นของลิเวอร์พูลเป็นแบบนี้ ถ้าผมเป็นผู้จัดการทีมของฝ่ายตรงข้าม ผมก็จะเลือกพื้นที่ฝั่ง เทรนต์ เป็นจุดยุทธศาสตร์ยามได้จังหวะตีโต้ใส่ทีมหงส์แดง
ไม่แปลกเลยที่ใครๆ ก็เหมือนจะเลือกทิ่มไปทางฝั่งนั้น.. ฝั่งของเทรนต์ ทั้งในพรีเมียร์ลีก และเกมสโมสรยุโรป
และนอกเหนือจากเหตุผลทั้งหลายที่ว่ามา มันก็ยังเป็นวิธีการเล่นของเทรนต์เอง
เทรนต์ย่อมต้องถูกเปรียบเทียบกับโรเบิร์ตสันเป็นธรรมดา ใครตื่นตัวกับเกมรับมากกว่า ใครพร้อมเข้าแท็คเกิลปะทะหรือตามติดแบบกัดไม่ปล่อยมากกว่า ใครที่ระแวดระวังเหตุการณ์รอบตัวมากกว่า
อันที่จริงโรเบิร์ตสันก็ไม่ได้เนี้ยบสุดๆ ในเกมรับ เขามีจังหวะเข้าบอลทะเล่อทะล่า มีจังหวะทำฟาวล์แบบไม่จำเป็น มีจังหวะเข้าพรวดถูกแตะหลบง่ายๆ หรือถูกจอมเทคนิคของฝ่ายตรงข้ามเล่นงานจนหัวปั่นให้เห็นอยู่เนืองๆ เหมือนกัน แต่ความเสียหายจากความผิดพลาดฝั่งเขานั้นดูจะน้อยกว่าฝั่งเทรนต์
อาจจะด้วยการช่วยทุเลาสถานการณ์ให้ของฟาน ไดค์ หรือกระทั่งการเล่นแบบกัดไม่ปล่อยของตัวเขาเอง ทักษะทางบอลการเข้าสกัดอาจไม่ร้อยเปอร์เซนต์แต่หัวใจมุ่งมั่นนั้นไม่ใช่คำถาม เขาจะตามบอลทุกลูกจนสุดเสมอ
ว่ากันด้วยเกมรับเพียวๆ แม้โรเบิร์ตสันจะไม่ใช่เกรดเอแต่ก็ไม่ได้แย่กว่าเทรนต์ ที่ยังดูด้อยกว่าจริงๆ ในแง่ของความตื่นตัวกับสถานการณ์ตรงหน้า
ทั้งสองคนเป็นแบ๊กที่โดดเด่นเรื่องเกมรุก อิทธิพของทั้งคู่ขึ้นไปแตะระดับเวิลด์คลาสในแง่การเติมขึ้นไปเป็นอาวุธสร้างโอกาสพังประตูคู่แข่ง นี่คือวิธีการเล่นที่คล็อปป์ต้องการ
เพราะเพลย์เมกเกอร์ของคล็อปป์คือฟูลแบ๊ก ทดแทนการทำงานแบบเครื่องยนต์เต็มสูบของกองกลางสามคน เป็นความสมดุลที่ลงตัวในภาพหนึ่ง เมื่อแบ๊กเติมเกมเต็มที่ กองกลางของคุณก็ต้องช่วยครอบคลุมพื้นที่ที่แบ๊กทิ้งเอาไว้ให้ แต่ถ้าคุณต้องการตัวทำเกมจัดๆ จากตรงกลาง มันอาจจะเสี่ยงเกินไปถ้าแบ๊กยังเติมสุดทั้งสองฝั่ง
เทรนต์และร็อบโบ้จึงมีเกมรุกที่รอบจัดแต่เกมรับแค่พอเอาตัวรอดด้วยกันทั้งคู่ เพียงแต่ตัวประคองฝั่งแบ๊กซ้ายชาวสกอตต์แน่นกว่า หนักกว่า และชัวร์กว่า เราจึงไม่ค่อยเห็นความเสียหายจากความผิดพลาดด้านนั้นมากนัก นอกจากนี้ยังต้องไม่ลืมว่าคู่แข่งมักจะเลือกโจมตีทางฝั่งแบ๊กขวาทีมชาติอังกฤษมากกว่าด้วย
ฉะนั้นการยืนของเทรนต์ การเหม่อของเทรนต์ การอ่านเกมป้องกันของเทรนต์ การเคลื่อนที่ ความตื่นตัว หรือระแวดระวังของเขา ย่อมถูกศึกษาอย่างทะลุปรุโปร่งจากคู่ต่อสู้ แค่เริ่มเซ็ตเกมบุก เริ่มต้นโต้กลับ หรือบอลริมเส้นที่กำลังจะโยนเข้าเขตโทษ พวกตัวรุกของฝ่ายตรงข้ามก็รู้แล้วว่าจะเล่นงานเขาอย่างไร
มันเป็นเหตุผลว่าทำไมช่วงที่กำลังจะประกาศรายชื่อนักเตะทีมชาติอังกฤษชุดยูโร 2020 เมื่อปีก่อนถึงมีข่าวลือว่า แกเร็ธ เซาธ์เกต อาจเลือก ไคล์ วอล์คเกอร์ รีซ เจมส์ และ คีแรน ทริปเปียร์ ติดธงโดยที่เทรนต์จะหลุดจากทีม จนกลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ เดอะค็อปหลายคนไม่ยอมเด็ดขาดเพราะมั่นใจว่าเทรนต์มีดีสู้สามคนนั้นได้
จริงๆ แล้ว ผู้จัดการทีมแต่ละคนก็มีวิธีการเล่นไม่เหมือนกัน เทรนต์อาจจะเหมาะกับเกมของคล็อปป์ แต่ไม่คลิกกับเกมของเซาธ์เกตเท่า วอล์คเกอร์ เจมส์ และ ทริปเปียร์ ก็ได้ (สุดท้ายเซาธ์เกตเลือกใส่ชื่อติดทีมชาติทั้งสี่คนเลย ก่อนที่เทรนต์จะขอถอนตัวในเวลาต่อมาเพราะบาดเจ็บ)
ในวันที่ทุกอย่างยังเป็นของลิเวอร์พูล คู่แข่งก็ขอแค่จังหวะจังๆ สักทีเดียว บางเกมถึงขั้นภาวนาให้มันมีอะไรเข้าทางบ้าง
แต่ในวันที่ไม่ใช่ทุกอย่างอยู่ในมือลิเวอร์พูลเบ็ดเสร็จอีกแล้ว ต่อให้ไม่ขออะไรเลย โอกาสก็มีเข้ามายัดใส่มือของคู่ต่อสู้เอง คล้ายได้รับคำเชื้อเชิญจากแชมป์ยุโรป 6 สมัยให้บุกเข้าเล่นงานได้เลย
ความระส่ำระส่ายฟอร์มตกกันทั้งทีมในฤดูกาลนี้คือภาพแบบนั้น
กองหน้าไล่บีบคู่ต่อสู้เป็นด่านแรกไม่ได้ ประสานงานกันขาดๆ เกินๆ กองกลางคุมเกมไม่ได้ ความมั่นใจหด พละกำลังหาย กองหลังก็ย่อมต้องเจองานที่ชุกขึ้นกว่าเดิม ยังไม่รวมถึงฟอร์มที่ดิ่งเหวเรียงตัว
แผลที่พร้อมเปิดเป็นทุนเดิมอยู่แล้วตรงนั้นก็เลยยิ่งถูกเปิดกว้างขึ้น เกมรับที่ไม่เนี้ยบของเทรนต์จึงยิ่งถูกขับให้เห็นเด่นชัดขึ้น
ทุกคนโดนบ่นหมด อยู่ที่ว่าใครถูกบ่นมากบ่นน้อย แต่เทรนต์คือคนที่น่าจะโดนสวดชยันโตหนักที่สุด โดนก่นทั้งจากแฟนบอล จากนักข่าว นักวิจารณ์ อดีตโค้ช อดีตผู้เล่น ทั้งกูรูและกูไม่รู
งอมพระราม..
แน่นอนครับ เขาปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้หรอก เล่นไม่ดีก็ต้องโดนด่าเป็นธรรมดา แล้วไอ้บอลคู่แข่งมันก็มักจะจี้มาทางเขาเสียด้วย (ก็แหงล่ะ) แต่นั่นคือสิ่งที่เขากับ เจอร์เก้น คล็อปป์ และเพื่อนร่วมทีมคนอื่นๆ จะต้องทำงานร่วมกันต่อไป แก้ไขมันให้ได้ ซึ่งมันไม่อาจเกิดขึ้นได้เพียงแค่ตัวเขาคนเดียว
ยามที่ทั้งทีมเล่นดี เทรนต์จะเด่นชนิดฉายแสง แต่เมื่อทีมเกิดสะดุดเร่งไม่ขึ้น ความผิดพลาดของเขาก็จะถูกขับให้โดดออกมาเช่นกัน เพราะเรามักจะมองหาคนที่ต้องรับผิดชอบอยู่แล้วโดยธรรมชาติ
เกมรับของเทรนต์ไม่ได้ร้อยเปอร์เซนต์หรอกครับ เขายังต้องพัฒนาขึ้นไปสู่จุดที่สมบูรณ์แบบกว่านี้ให้ได้ เพียงแต่ผมคิดว่าพอจะทำความเข้าใจในความยากของภารกิจเขาได้อยู่เหมือนกันเมื่อพิจารณาถึงวิธีการเล่นที่เขาได้รับมอบหมายและการที่พื้นที่ดูแลของเขาตกเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่คู่ต่อสู้จ้องจะเล่นงาน
ในวันที่ทีมเล่นดี เรามองไม่เห็นหรือแม้จะเห็นก็ปล่อยข้ามไป เขาอาจจะถูกเจาะไปประตูหนึ่ง แต่เติมขึ้นไปเปิดบอลเข้าทำเป็นว่าเล่นและจบเกมด้วยสองแอสซิสต์ มันก็ลบล้างกันได้สนิท
แต่เชื่อเถิดครับ กระทั่งในวันที่พวกเราดีใจกระโดดโลดเต้นที่ทีมเล่นดีและเทรนต์จบเกมด้วยสองแอสซิสต์บวกกับการเปิดบอลเข้าทำนับครั้งไม่ถ้วนนั้น คล็อปป์กับเขาจะเลือกหยิบเอาประตูที่ถูกเจาะทางเขานั้นขึ้นมามองและไม่ยอมอยู่เฉยๆ กับมัน พยายามแก้ไขมันให้ดีขึ้น
คงต้องให้กำลังใจและรอดูการแก้ปัญหาของคล็อปป์ว่าจะทำได้ดีแค่ไหนอย่างไรต่อไป ปัญหาของลิเวอร์พูลในฤดูกาลนี้ไม่ได้อยู่ที่เทรนต์เพียงคนเดียวหรอกครับ มันเป็นด้วยกันทั้งทีม เพียงแต่เขาเหมือนเหยื่ออันโอชะที่มองเห็นชัดที่สุด จึงถูกหยิบขึ้นมาชำแหละสิ้นทั้งนอกและในอย่างที่เห็น
ตรงนี้ก็ต้องยอมรับกันไป ผิดเองด้วยพลาดเองด้วยจะโทษใครหรือโยนความผิดให้ใครได้
ไม่มีหนทางแก้ไขใดดีไปกว่าการก้มหน้าก้มตาพิสูจน์ตัวเองอีกครั้ง ผมเชื่อว่าพวกเราหลายคนยังพร้อมจะให้เวลาเขาเติบโตเป็นแบ๊กขวาที่ดียิ่งขึ้น เกมรับยกระดับขึ้น สลัดคำดูถูกว่าไอ้ขี้แอ๊กออกไปให้ได้
ไม่ว่าใครก็อยากสมบูรณ์แบบที่สุด เล่นผิดพลาดน้อยที่สุดด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแบบที่แค่คิดก็ทำได้เลยจริงๆ
เทรนต์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์.. เอาใจช่วยให้เขาก้าวข้ามอุปสรรคนี้ไปได้ด้วยกันครับ
ตังกุย