มีข่าวล่าสุดจากสื่ออังกฤษหลายฉบับที่ทรงมาตรฐานรายงานว่าพรีเมียร์ลีกมีแผนงานเพิ่มจำนวนเกมในการถ่ายทอดสดภายในสหราชอาณาจักรอีก 60 นัดต่อฤดูกาล
โดยเริ่มต้นตั้งแต่ปี2025 สำหรับการประมูลลิขสิทธิ์เฉพาะ "UK" นะครับ
ผมเขียนเรื่องนี้ลงในน.ส.พ. สตาร์ซอคเก้อร์ รายวันอย่างละเอียด ผมขอตัดทอน สรุปๆจากสิ่งที่เขียนมาเผยแพร่ทางออนไลน์ พอให้อ่านกันในภาพกว้างๆ สำหรับ "มูลค่า" ฟุตบอลลีกอาชีพที่แพงที่สุดในโลก
คงไม่ต้องถามนะครับว่าทำไมแพง...มันคงไม่ใช่เพียงแค่ ดีมานด์ กับ ซัพพลาย หรือปัจจัยเรื่องความนิยมในแบรนด์ฟุตบอลอังกฤษมันฝังรากลึกแฟนบอลทั่วโลก มันคงหลายเหตุผลนั่นแหละ
ว่าด้วยเรื่องลิขสิทธิ์ของพรีเมียร์ลีกขายแยกเป็น 2 แบบทางทีวีและสตรีมมิ่ง
Domestic TV rights หรือ ลิขสิทธิ์เฉพาะสหราชอาณาจักร และ Overseas TV rights
เฉพาะในยูเค นั้นถ่ายทอดสดแค่ 200 นัด ส่วนอื่นๆของโลกถ่ายกันครบ 380 นัดทั้งซีซั่น
โดยข่าวเรื่องการเพิ่มจำนวนโปรแกรมถ่ายทอดสดเฉพาะในอังกฤษนั้นต้นตอข่าวมาจาก เดอะ เทเลกราฟ ส่วนแทบลอยด์ ก็เอาไปลงกันจนเป็นข่าวใหญ่ สำหรับการถ่ายทอดสดเพิ่มอีก 60 นัดในส่วนของสหราชอาณาจักรหรือ domestic rights นั่นเอง
ปกติที่อังกฤษนั้นมีเพย์ ทีวี 2 ช่อง+ สตรีมมิ่ง หนึ่งเจ้าถ่ายทอดสดรวมกัน 200 นัดจาก 380 นัดทั้งฤดูกาล อันนี้คือกลุ่มผู้ชมที่เสียเงินค่าสมาชิกได้ดู ไม่นับแมตช์ ไฮไลต์ ทางบีบีซี ซึ่งดูฟรีเฉพาะวันเสาร์ช่วงสี่ทุ่มครึ่งหลังบอลเตะเสร็จ คนอังกฤษก็ได้ดูฟรี รายการ "แมตช์ ออฟ เดอะ เดย์" ที่มี แกรี ลินิเกอร์ เป็นพิธีกร มี อลัน เชียเรอร์ กับ เอียน ไรท์ นั่งวิเคราะห์หลังเกม เนื้อรายการกฌ 40-45 นาที เน้นเจาะคู่ใหญ่ของวันเสาร์ ส่วนคู่อื่นๆ เป็นไฮไลต์ ลงเสียงบรรยายกันไป
สำหรับลิขสิทธิ์ พรีเมียร์ลีกในอังกฤษ ปัจจุบันนั้น 3 ซีซั่น 2022-2025 ช่องทีวีที่ซื้อไปทั้งสกายสปอร์ตส,บีที สปอร์ต และ แอมะซอน ไพรม์ วีดีโอ เป็นสตรีมมิ่ง ก็จ่ายเงินตามแพคเกจที่กำหนดตามกรอบเวลา 7 แพคเกจ
นอกจากทีวีซึ่งมีทั้งสัญญาณเสียงและภาพแล้วพรีเมียร์ลีกยังขาย "ลิขสิทธิ์" สัญญาณเสียงหรือ audio, อินเทอรเนต อีกด้วย เฉพาะใน UK มีสองเจ้านะครับคือ BBC Radio 5 Live และ talkSPORT โดยค่าย talkSPORT นั้นยังได้สิทธิ์คลอบคลุมเป็นพิเศษกับสัญญาณเสียงนานาชาติอีกด้วย
ส่วนมูลค่าลิขสิทธิ์ในยูเค เฉพาะทีวีนะครับ £5.1 พันล้าน (สองแสนล้านบาท)
สกายสปอร์ต จ่ายมากสุด 128 นัด เพราะซื้อไป 4 แพคเกจ ตามช่วงเวลาวันเสาร์ 5.30 PM หรือห้าโมงเย็นที่อังกฤษ และเวลา 7.45 PM , วันอาทิตย์เวลา 2.00 PM, 4.30 PM , วันจันทร์ 8PM (สองทุ่ม) วันศุกร์ 8.00PM
บีที สปอร์ต 52 นัด วันเสาร์ 12.30PM และช่วงกลางสัปดาห์
ส่วนแพลทฟอร์ม ออนไลน์ หรือ สตรีมมิ่งนั้นยังคงเป็นแพลทฟอร์มที่พรีเมียร์ลีกวางไว้ลำดับสุดท้าย ได้ถ่ายทอดสดทั้งสิ้น 20 นัด ช่วงวันหยุด (BANK HOLIDAY) และกลางสัปดาห์ เงินส่วนสตรีมมิ่งเนี่ย แอมะซอน จ่ายพรีเมียร์ลีกซีซั่นละ £30 ล้านหรือ 1,200 ล้านบาท สามซีซั่นก็ 3,600 ล้านบาท
เบาๆไป 5555
ทั้งหมดนั้นคือเพย์ ทีวีและสตรีมมิ่งนะครับ ส่วนที่ดูฟรีไม่เสียเงินคือช่องบีบีซี เป็นไฮต์ไลต์เฉพาะคืนวันเสาร์ ทางรายการ แมตช์ ออฟ เดอะ เดย์ ที่อยู่คู่กับคนอังกฤษมานานกว่า 60 ปี ซึ่งจ่ายเงินเพื่อสิทธิ์ส่วนนี้มาแต่ในราคาที่ไม่สูงมากนัก เพราะถือว่าผู้ชมทั้งประเทศควรจะได้ชมฟรีๆในบางคอนเท้นต์เท่านั้นเอง
อ้อ.....เฉพาะที่อังกฤษไม่มีถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกช่วง 3.00PM หรือบ่ายสามวันเสาร์นะครับเป็น ธรรมเนียมปฏิบัติที่เป็นมานานแล้ว จนถึงยุคพรีเมียร์ลีกนั้นสโมสรสมาชิกตกลงกันว่า black out มันเริ่มตั้งแต่ยุคก่อนดิวิชั่นหนึ่งเดิมที่อยากให้แฟนบอลออกจากบ้านไปชมเกมกันวันหยุดสุดสัปดาห์
จริงๆ ยังไงแฟนบอลขาประจำก็ออกบ้านไปชมกันแน่นสนามอยู่แล้ว แต่ก็นั่นแหละพอมันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ คนอังกฤษก็ไม่ค่อยเปลี่ยนอะไรง่ายๆ แม้มีการเปลี่ยนแผนการถ่ายทอดสดที่จะเพิ่มอีก 60 นัดนั้น จะไม่มีการนำโปรแกรมถ่ายทอดสดช่วงบ่ายสามโมงที่อังกฤษมาเพิ่มแน่นอน
แล้ว 60 นัดที่เพิ่มขึ้นเอามาจากไหน???
คำตอบง่ายมากครับ... พรีเมียร์ลีกจะลดแพคเกจจาก 7 มีการคาดการกันว่าจะเหลือ 4 แพคเกจ นั่นหมายความว่าช่วงเวลาที่กำหนดให้มีการถ่ายทอดสดนั้นแม้คงเดิม
12.30pm 5.30pm, 8.00 pm เสาร์,อาทิตย์, จันทร์, กลางสัปดาห์ (อังคาร, พุธ, พฤหัสบดี), วันศุกร์ แต่จะยุบรวมในแพคเกจใด แพคเกจหนึ่ง อย่างเช่น ช่วง 7.45 PM หรือคืนวันเสาร์ อาจไปรวมกับช่วงกลางสัปดาห์หรือ คืนวันจันทร์, วันศุกร์อะไรก็ว่ากันไป เป็นอีกแพคเกจหนึ่ง
ลดจาก 7 ให้เหลือ 4 แล้วขายแบบเน้นๆ ไปเลย
คาดกันว่าน่าโยกโปรแกรมแข่งขันวันเสาร์เวลา บ่ายสามที่อังกฤษ จากปกติ 4-6 คู่ เหลือ 3-5 คู่ โยกมาหนึ่งหรือสองคู่ไปใส่ช่วงกลางสัปดาห์ ก็น่าจะพอแล้วเพราะซีซั่นหนึ่งแข่งกัน 38 สัปดาห์ ยังไงก็ลงล้อค
คราวนี้ขึ้นกับการประมูลกันแล้วว่าค่ายไหนจะทุ่มเงินเท่าไหร่เพื่อซื้อลิขสิทธิ์
ถ้าเพย์ ทีวี ที่อังกฤษมี 2 เจ้าหลักๆ ที่ถ่ายทอดสด ขณะที่ สตรีมมิ่ง อย่าง แอมะซอน ดูแล้วคงเหนื่อยหากหวังทุ่มเงินแค่กับทีวี ซึ่งพรีเมียร์ลีกให้ความสำคัญอยู่
ก่อนหน้านี้ผมเคยเขียนในเพจ JACKIE เมื่อก่อนโควิดอีกนะครับว่า พรีเมียร์ลีกกำลังศึกษาแนวทางแบบ เนตฟลิกส์ เป็น พรีเมียร์ฟลิกส์ ตอนนี้ยังไม่เลิกล้มโครงการนี้นะครับ
ขายลิขสิทธิ์ตรงถึงบ้านท่าน...เก็บเงินโดยไม่มี "ตัวกลาง" รับเนื้อๆเป็นรายเดือน
ไม่ต้องรอทุกสามฤดูกาล เอาแค่ปีเดียวก็มากกว่าสามปีที่ขายทั่วโลกแล้ว เพียงแต่ในทางปฏิบัติ ยังทำไม่ได้ในเวลานี้ กำลังศึกษากันอยู่ เพราะถ้าเปิดตัวขายตรง ฟุตบอล ออนไลน์ ถึงบ้านท่าน
มันต้องเนี้ยบ เฉียบขาดและเฉียบคม
โอเค..กลับมาที่เพย์ ทีวี สองช่องที่ถือสิทธิ์ พรีเมียร์ลีก
สกายสปอร์ตส และ บีที สปอร์ต โดยข่าวล่าสุดรายงานว่า BT sports จะเปลี่ยนเป็นบริษัท TNT Sports ในเดือนก.ค. ที่จะมาถึงนี้ หลังจาก Warner Bros Discovery มาร่วมทุนกับบีที สปอร์ต โดย วอร์เนอร์ บรอส ดิสคัฟเวอรี นั้นเป็นเจ้าของ ยูโร สปอร์ตส (เทก โอเวอร์เมื่อปีที่แล้ว)
นั่นทำให้ TNT Sports จะแข็งแกร่งสู้กับสกายสปอร์ตส์ ในการแย่งสิทธิ์การประมูลพรีเมียร์ลีกในอีกสองปีข้างหน้า ซึ่งปัจจุบัน ยูโร สปอร์ตส์ ถือสิทธิ์หลายรายการระดับโลกด้วยทั้ง พรีเมียร์ลีก, แชมเปี้ยนส์ ลีก, รักบี้, เทนนิส แกรนด์สแลม, และโอลิมปิก
เมื่อเปลี่ยนชื่อในเดือนก.ค. ช่องสัญญาณเดิมนั้นจะเปลี่ยนเป็นช่อง TNT Sports ซึ่ง ในอังกฤษและไอร์แลนด์ ไม่คุ้นแน่ แต่ที่อเมริกาและละตินอเมริกา มีช่องนี้ครับ นั่นยิ่งทำให้การแข่งขันกันสูงขึ้นกว่าเดิม
นั่นหมายความว่าการแข่งขันประมูลลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกในส่วนของยูเคน่าจะเข้มข้นขึ้น จากมูลค่าสามซีซั่นล่าสุด (หมดสัญญา 2025) อยู่ที่ £5 พันล้าน น่าจะบวกขึ้นไปสูงกว่านี้
ยังไม่มีการประเมินตัวเลขเพราะเร็วไปและค่าเงินเฟ้อในอังกฤษตอนนี้ยังสูงอยู่ น่าจะสักปี 2024 คงพอมองเห็นตัวเลขลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกเฉพาะส่วนในสหราชอาณาจักรว่าไปที่ตัวเลขไหน
ยังไงมากกว่า 5 พันล้านปอนด์แน่ๆ หากเพิ่มอีก 60 นัด
แหม...เขียนลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกแล้ว คันมืออยากพิมพ์เรื่องลิขสิทธิ์บอลไทยจัง
เวลานี้ "มูลค่า" ไทยลีก ลดฮวบฮาบ จนไม่เหลือ "มูลค่า" แล้วมั้ง
ถึงขั้นขอลดการจ่ายเงินบำรุงสโมสร แถมผ่อนอีกหลายเดือน โดยที่สโมสรสมาชิก ที่ถือว่าเป็น share ของไทยลีก นั่งทำตาปริบๆ ไม่หือ ไม่อือ ก้มหน้ารับชะตากรรมกันไป ทั้งที่ตัวเองเสียประโยชน์แท้ๆ
แน่นอน...เราจะไปเทียบกับมูลค่าลิขสิทธิ์ระดับโลกไม่ได้อยู่แล้ว เพียงแต่ถ้าองค์กรผู้รับผิดชอบบริหารจัดการดีๆ อย่างมืออาชีพ เชื่อว่า "มูลค่า" ไทยลีกนั้นปั้นกันได้ครับ อย่างน้อยก็ไม่ควรจะแย่เหมือนที่เกิดขึ้น และคงไม่เกี่ยวกับ "โควิด" แน่นอน เพราะ "มูลค่า" ฟุตบอลมาจากการถ่ายทอดสดทางสื่อทีวี และต้อง เพย์ ทีวี ไม่ใช่ "สตรีมมิ่ง" รวมทั้งภาพแฟนบอลเต็มความจุสนามเป็นบรรยากาศที่คึกคัก ตื่นเต้น และบอลเล่นกันสนุกด้วย มันจึงจะเกิดมูลค่า เหมือนระดับนานาชาติที่เราเห็นกันนั่นแหละ
รอดูปี 2025 ว่าลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกจะทะลุไปกี่แสนล้านบาท เมื่อทางพรีเมียร์ลีกเพิ่มจำนวนนัดถ่ายทอดสดเฉพาะในอังกฤษอีกซีซั่นละ 60 เกม จากเดิม 200 เป็น 260 แมตช์
บอกได้เลยว่า.......รวยยยยกันเละ
JACKIE