เกรแฮม พ็อตเตอร์ เริ่มงานของเขาที่สแตมฟอร์ด บริดจ์ ไปแล้ว..
เส้นทางพิสูจน์ความสามารถยังอีกยาวไกลทีเดียวครับเมื่อดูจากระยะเวลาที่ได้รับจากฝ่ายบริหารของเชลซีนานถึงห้าปี
การเข้ามาของพ็อตเตอร์ทำให้เชลซีกลายเป็นทีมที่มีความเคลื่อนไหวคึกคักที่สุดแล้วในช่วงออกตัวเข้าสู่ฤดูกาลใหม่ ไล่ตั้งแต่การรอความชัดเจนเรื่องเทกโอเวอร์ให้เสร็จสิ้นของ ท็อดด์ โบห์ลี่ การไล่ซื้อนักเตะใหม่เข้าทีมในช่วงปลายตลาดซื้อขาย ผลงานพลิกคว่ำพลิกหงายในสนาม..
และการถูกปลดออกจากตำแหน่งของ โธมัส ทูเคิ่ล
การปลดทูเคิ่ลคือความเคลื่อนไหวที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน จริงอยู่ว่าเชลซีเริ่มต้นฤดูกาลได้ไม่ดีนัก แต่มันก็เพิ่งจะแค่ต้นฤดูกาล หลายคนยังมองว่าด้วยดีกรีอย่างเชลซี ถ้าปรับจูนลงตัวเมื่อไหร่ก็พร้อมลุ้นกันได้ยาวๆ
ผมไม่รู้ว่าเหตุผลลึกๆ ที่ทำให้ ทูเคิ่ล ชะตาขาดถูกปลดจากตำแหน่งนั้นเป็นเพราะการแพ้ ดินาโม ซาเกร็บ ในเวทียูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ไหม หรือเขาอาจจะถูกหมายหัวเอาไว้แล้วด้วยเงื่อนไขและปัจจัยอื่นๆ ภายในสโมสร
มีความเห็นว่าเขาเริ่มคุมสถานการณ์ในห้องแต่งตัวไม่อยู่ ความกลมเกลียวที่เคยมีดูเหมือนจะหายไป แต่มันก็เป็นเพียงการคาดการณ์ไม่มีอะไรยืนยันชัดเจนและมันก็คงจะไม่ชัดเจนต่อไปอย่างนั้น
การเริ่มต้นด้วยความย่ำแย่ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับทีมฟุตบอลทุกๆ ทีม บางทีมีปัญหาจากภายใน บางครั้งมีปัญหาจากภายนอก หรือคุณอาจจะเจอกับคู่ต่อสู้ที่เตรียมตัวมาดีกว่า พร้อมกว่า ด้วยอุปสรรคที่น้อยกว่า
หรือบางทีมพบกับโปรแกรมเตะโหดร้ายในช่วง 4-5 เกมแรกโอกาสที่จะเก็บผลการแข่งขันสวยๆ ก็ยิ่งน้อยลง
กับเชลซีนั้นอุปสรรคชัดเจนของทูเคิ่ลก็คือความเปลี่ยนแปลงของฝ่ายบริหาร มันเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เสียด้วยเพราะว่ากันถึงการเปลี่ยนเจ้าของสโมสรเลย และกว่าการเทกโอเวอร์เปลี่ยนมือจาก โรมัน อบราโมวิช มาเป็นของ โบห์ลี่ จะลงตัวก็ปาเข้าไปเกือบจะเริ่มฤดูกาล
ทีมสิงโตน้ำเงินครามจึงเหมือนเริ่มต้นช้ากว่าทีมอื่นๆ
การซื้อผู้เล่นคล้ายถูกเวลาบีบให้ต้องรีบ มันเป็นภาพของความไม่พร้อมนักแม้นักเตะที่ได้ตัวมาจะเต็มไปด้วยคุณภาพทั้ง ราฮีม สเตอร์ลิง คาลิดู กูลิบาลี่ มาร์ค กูกูเรย่า และ ปิแอร์-เอเมอริก โอบาเมย็อง
เกมที่สะดุดหลายเกมก็น่าเสียดาย นัดเสมอสเปอร์สที่สแตมฟอร์ด บริดจ์ ก็เล่นได้ดีกว่า ขึ้นนำก่อนถึงสองครั้ง แต่กลับถูกตีเสมอช่วงทดเวลา เกมที่แพ้เซาธ์แฮมป์ตันก็ทำประตูขึ้นนำได้ก่อน เช่นเดียวกับเกมเจอซัลซ์บวร์กที่โดนทีมเยือนไล่ตีเสมอช่วง 15 นาทีสุดท้าย
ฤดูกาล 2022/23 เราจึงพูดไม่ได้เต็มปากว่าเชลซีพร้อมรบ ตรงกันข้ามเลยพวกเขายังไม่ลงตัวด้วยซ้ำเมื่อฤดูกาลเปิดฉากขึ้น
การตัดสินใจของฝ่ายบริหารที่ปลดทูเคิ่ลออกจากตำแหน่งนั้นแน่นอนว่าย่อมก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมาย บ้างเห็นด้วย บ้างไม่เห็นด้วย บ้างเข้าใจ บ้างก็ไม่เข้าใจ
ขณะเดียวกันการแต่งตั้ง พ็อตเตอร์ ผู้กุมบังเหียนคนใหม่ที่สแตมฟอร์ด บริดจ์ อย่างรวดเร็วก็ยังแสดงให้เห็นว่ามันคือปฏิบัติการที่ผ่านการเตรียมการมาเป็นอย่างดีแล้ว
อาจมีการทาบทามกับพ็อตเตอร์และไบรท์ตันเอาไว้ก่อนด้วยซ้ำ ทุกอย่างจึงได้ราบรื่นแบบนี้ ปลดทูเคิ่ลปุ๊บคุยกับพ็อตเตอร์ปั๊บ และมอบสัญญายาวห้าปีให้กุนซือที่ได้รับการจับตามองมากที่สุดคนหนึ่งของวงการเซ็นทันที
มันคือแผนงานที่วางเอาไว้แล้ว ไม่ได้เป็นการไล่คนเก่าออกโดยไม่มีอะไรรองรับ เชลซีย่อมต้องมองถึงความสามารถของพ็อตเตอร์และอยากจะมอบทีมให้อยู่ในมือของเขา
ไม่อย่างนั้นก็คงไม่ยื่นสัญญาระยะยาวถึงครึ่งทศวรรษให้หรอก
เชลซีหลังจากนี้จึงน่าสนใจมากนะครับ เมื่อพวกเขาเลือกโค้ชที่ไม่ได้อยู่ในระดับไฮโปรไฟล์เหมือนที่ผ่านมา
นับตั้งแต่ โรมัน อบราโมวิช เข้ามาเทกโอเวอร์สโมสรเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว เชลซีจะใช้บริการยอดกุนซือชื่อก้องโลกอยู่เสมอ เดินเข้าเดินออกกันชนิดหัวกะได สแตมฟอร์ด บริดจ์ ไม่เคยแห้ง
โชเซ่ มูรินโญ่ กุส ฮิดดิ้งค์ หลุยส์ เฟลิเป้ สโคลารี่ คาร์โล อันเชล็อตติ ราฟาเอล เบนิเตซ อันเดร วิลลาส โบอาช เมาริซิโอ ซาร์รี่ อันโตนิโอ คอนเต้..
โธมัส ทูเคิ่ล เองก็เป็นหนึ่งในกลุ่มยอดกุนซือชื่อดังเหล่านั้น
จะมีก็เพียง อัฟราม แกรนท์ กับ โรแบร์โต้ ดิ มัตเตโอ กระมังที่ไม่ได้ชวนให้ตื่นเต้นไปกับชื่อเสียงและความสำเร็จที่เคยคว้ามาได้ แต่จุดเริ่มต้นของทั้งคู่ก็มาจากการขัดตาทัพ หรือรายของ แฟร้งค์ แลมพาร์ด ก็เช่นกัน
สัญญาห้าปีกับผู้จัดการทีมที่ไม่เคยสัมผัสกับงานคุมทีมขนาดใหญ่อย่างพ็อตเตอร์จึงเป็นการเดิมพันที่กล้าและบ้าบิ่นไม่น้อย เราไม่เคยเห็นการตัดสินใจเกี่ยวกับการเลือกผู้จัดการทีมอย่างนี้เลยในยุคของอบราโมวิช
ในอีกมุมหนึ่งเราจึงสัมผัสได้ว่าแนวทางของเชลซีเปลี่ยนแปลงไปเหมือนกัน คล้ายกับว่ายินดีอดทนรอเก็บเกี่ยวดอกผลของการสร้าง ไม่ใจร้อนต้องรีบได้ทุกอย่างที่ต้องการในทันที พร้อมจะมอบเวลาให้ผู้จัดการทีมมากขึ้น อดทนมากขึ้น
ถามว่าเสี่ยงไหมทุกความเปลี่ยนแปลงย่อมมีความเสี่ยงอยู่แล้ว แต่มันแสดงให้เห็นถึงการเลือกอย่างรอบคอบ เพราะถ้าไม่รอบคอบหรือบุ่มบ่ามเลือก คำตอบไม่น่าจะออกมาเป็นพ็อตเตอร์ หรือหากเป็นเขาก็คงไม่ใช่ในสัญญายาวถึงห้าปี
สื่ออย่าง เดลี่มิร์เรอร์ วิเคราะห์ไว้ว่า พ็อตเตอร์ จะไม่ถูกกดดันเรื่องการแย่งแชมป์หรือการติดท็อปโฟร์ในฤดูกาลนี้ เหตุผลง่ายๆ ก็เพราะสัญญาห้าปีที่ได้รับนั่นแหละที่แสดงให้เห็นว่าฝ่ายบริหารเลือกให้น้ำหนักกับการสร้างทีม
การทำงานที่เชลซีโดยไม่ถูกตีกรอบเรื่องลุ้นแชมป์หรือคว้าตั๋วยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีกเป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้เลยนะครับ แต่มิร์เรอร์มองว่าเชลซีในยุคของ ท็อดด์ โบห์ลี่ จะไม่มีความกดดันไปยังผู้จัดการทีมในแบบของอบราโมวิชอีก
กุนซือของโบห์ลี่จะได้เวลาและความเข้าใจมากขึ้น ไม่ใช่ชะตาขาดทันทีที่ทำทีมหมดลุ้นแชมป์หรือพื้นที่ท็อปโฟร์อย่างที่นายใหญ่คนอื่นๆ โดนมาก่อน
ตรงนี้คงต้องรอดูว่าจะเป็นอย่างนั้นจริงไหม
โดยธรรมชาติแล้ว ฤดูกาลแรกของผู้จัดการทีมแต่ละคนมักจะเสมือนมีเกราะป้องกันตัวอยู่แล้ว แววแห่งความเสี่ยงที่จะตกงานมันจะเริ่มมาในฤดูกาลที่สองต่างหาก
นั่นคือเรื่องที่ยังไม่มีใครคาดเดาได้ เพราะนอกจากจะยังไม่รู้ผลลัพธ์ว่าผลงานของพ็อตเตอร์ที่เชลซีในซีซั่นแรกเป็นอย่างไรแล้ว เราก็ยังมืดแปดด้านกับความเป็น ท็อดด์ โบห์ลี่ อีกด้วยว่าเขาเป็นเจ้าของทีมแบบไหน
ความใหม่ของเชลซีในวันนี้ยิ่งทำให้แสงสปอตไลต์สาดส่องไปที่สแตมฟอร์ด บริดจ์ ทีมสิงโตน้ำเงินครามกลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้ง
การทุ่มเงินมหาศาลสี่พันสองร้อยห้าสิบล้านปอนด์ในดีลเทกโอเวอร์รวมทั้งการอนุมัติเงินก้อนมหึมาซื้อนักเตะใหม่ร่วมทัพยืนยันกับเราว่า ท็อดด์ โบห์ลี่ คงไม่เข้ามาเล่นๆ แน่
เขามุ่งมั่นที่จะเป็นเจ้าของสโมสรเชลซีให้ได้ และสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดช่วงปิดฤดูกาลมาจนถึงตอนนี้ก็ทำให้เชลซีในยุคหลัง โรมัน อบราโมวิช ยังคงน่าสนใจ
น่าสนใจสมกับที่เป็นเชลซี ทีมยักษ์ใหญ่ของวงการ
ผ่านเกมทีมชาติกลับมาก็จะเข้าสู่ช่วงรันยาวเตะรัวแบบถี่ยิบ ถึงตรงนั้นล่ะครับที่ความสนุกสนานจะเกิดขึ้นกับแฟนบอลทุกๆ ทีม.. กองเชียร์สิงโตน้ำเงินครามเองก็เช่นกัน
ตังกุย