ประเด็นข่าวใหญ่ต่อเนื่องนับจากวันอังคารที่ 7 มี.ค. ที่ผ่านมาคือ การแสดงทัศนะทางการเมืองของตำนานดาวยิงทีมชาติอังกฤษ แกรี ลินิเกอร์ ในฐานะพิธีกรรายการฟุตบอลอันดับหนึ่งของอังกฤษ "Match of the day" หรือ MOTD ที่อยู่คู่คนอังกฤษและทีวีช่องBBC มาอย่างยาวนาน (รายการต้นแบบ "เจาะสนาม" ทางช่อง7)
ลินิเกอร์ ไม่เห็นด้วยกับร่างกฏหมายของรัฐบาลอังกฤษเรื่องการกีดกันผู้อพยพที่เดินเข้าอังกฤษมาเพื่อขอลี้ภัย (ตามช่องทางธรรมชาติและผิดกฏหมาย) ซึ่งคาดว่าน่าจะผ่านการลงมติจากรัฐสภาตามเสียงข้างมากของพรรคอนุรักษ์นิยม ที่เป็นฝั่งรัฐบาลอังกฤษอยู่แล้ว
ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลอังกฤษ จัดแผนงาน stop the boat คือการกีดกันผู้อพยพทั้งทางเรือและเส้นทางอื่นๆ ของรัฐบาลอังกฤษ ณ เวลานี้....
ดังนั้น ลินิเกอร์ จึงทวิตข้อความผ่านทวิตเตอร์ ส่วนตัวของเขา @GaryLineker ที่มีผู้ติดตามตอนนี้ 8.8 ล้านคน เมื่อวันอังคารที่ 7 มี.ค. ดังนี้...
"Good heavens, this is beyond awful."
เขาเริ่มแสดงปฏิกริยาทันทีด้วยการบอกว่า "อุ้ยยย!! นี่มันเกินคำว่าเลวร้ายไปแล้ว"
ตามด้วย....
"We take far fewer refugees than other major European countries.
พวกเราทำเรื่องผู้ลี้ภัยไปไกลยิ่งกว่าชาติใหญ่ๆในยุโรปแล้วนะครับ
"This is just an immeasurably cruel policy directed at the most vulnerable people in language that is not dissimilar to that used by Germany in the 30s, and I'm out of order?"
นีคือแนวนโยบายทีเหี้ยมโหดไร้มาตรฐานต่อผู้คนที่มีความอ่อนแอที่สุดผ่านการสื่อสารคล้ายๆกันกับภาษาที่ใช้ในเยอรมนียุค 30 ผมรับไม่ได้จริงๆเรื่องนี้
แม้มีเรื่องเยอรมนียุคทศวรรษ 30 กรณี "ฮอโลคอสต์" (เชื่อว่าทุกคนรู้เรื่องนี้ไม่ขอเขียนถึงครับ) ทำให้คนยิวในอังกฤษไม่พอใจ แต่เนื้อใหญ่ใจความคือการมุ่งโจมตีรัฐบาลอังกฤษซะมากกว่า นี่คือสิ่งที่เขาโดนบีบีซี เล่นงาน
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ ลินิเกอร์ วิจารณ์การเมืองซึ่งทางสำนักข่าวบีบีซี มองว่า "ละเอียดอ่อน" ไม่ควรไปแตะต้องทั้งที่อังกฤษคือประเทศประชาธิปไตย ทุกคนมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นอย่างเสรีหรือ free speech
ก่อนหน้านี้ ลินิเกอร์ เคยทวิตแสดงทัศนะเรื่อง Brexit ที่หนักกว่านั้นคือการโจมตีเจ้าภาพบอลโลก กาตาร์ และปฏิเสธไปร่วมพิธีเปิด แสดงออกอย่างชัดเจนต่อเจ้าภาพที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและเหยียดเพศ ในบอลโลกนั้นเขาใช้รายการบอลโลกทางบีบีซี นี่แหละเป็นป้อมปราการโจมตี
แปลกแฮะ...บีบีซี ไม่เห็นจะว่าอะไร
นี่เข้าข่ายปากว่าตาขยิบอยู่เหมือนกัน
โอเค...ประเด็นการวิจารณ์การเมืองแม้ใช้ทวิตเตอร์ส่วนตัว แต่เขากลับโดนผู้อำนวยการบีบีซี ทิม เดวี่ บอกให้ ลินิเกอร์ ขอโทษต่อการแสดงความคิดเห็นครั้งนี้ ลินิเกอร์ ยืนกรานว่า "ไม่"
ทิม เดวี จึงสั่งพักงานชั่วคราว ไม่ให้ทำพิธีกรรายการฟุตบอลดังอันดับหนึ่งของเกาะอังกฤษ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เหตุการณ์นี้ ได้สร้างความสั่นสะเทือนและมีแรงกระเพื่อมไปทั้งแผ่นดินด้วยเพราะเพื่อนร่วมงานในรายการแมตช์ ออฟ เดอะ เดย์ อันประกอบด้วยตำนานนักบอลทีมชาติอังกฤษรุ่นน้องอย่าง อลัน เชียเรอร์, เอียน ไรท์ และทีมบรรยายไฮต์ไลต์ ซึ่งมีวอทส์ แอ๊บ กลุ่ม ตกลงพร้อมเพรียงกัน ขอไม่ทำงานในสัปดาห์นี้ ทั้งเสาร์และอาทิตย์
ตามด้วยอีกหลายรายการของบีบีซี ทั้งทีวี, วิทยุและออนไลน์ โดยกลุ่มผู้บรรยายวิทยุช่องบีบีซี 5 ไลฟ์ รายงานสดบอลพรีเมียร์, รายการ final score, football focus รายการออนไลน์ รวมนักวิเคราะห์ระดับตัวทอปทั้ง ไมก้าห์ ริชาร์ดส์, เจอร์เมน จีนาส, อเล็กซ์ สก็อต (ตำนานนักบอลหญิงทีมชาติอังกฤษ) ต่างพากันประท้วงไม่ทำงานให้บีบีซีกันพร้อมเพรียง
ยังผลให้รายการฟุตบอลอันดับหนึ่งที่ออกอากาศไปเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาอย่าง แมตช์ ออฟ เดอะ เดย์ ลดเวลาออกอากาศเหลือ 20 นาที มีแต่ไฮต์ไลต์ ไม่มีพิธีกร, ไม่มีผู้วิเคราะห์, ไม่มีการลงเสียงบรรยายใดๆทั้งนั้น
ออกอากาศไปแบบแห้งๆ จืดๆ
นั่นแหละที่โดนคนอังกฤษโจมตีบีบีซี เละเทะ เสียรังวัดช่องฟุตบอลเบอร์หนึ่งของประเทศ หนักว่านั้นคือเวลานี้ น.ส.พ. และสื่อทุกฉบับทำข่าวเชิงเจาะลึกถึงวงในบีบีซี ที่ได้ข่าวจากพนักงานเอามาพูดให้สื่อฟัง นั่นยิ่งแสดงให้เห็นถึงเนื้อในองค์กรระดับโลกว่า "ดูวุ่นวาย" ขนาดไหน
นักข่าวและพนักงานประจำของบีบีซี มีสองกลุ่มที่ทั้งเห็นด้วยกับลินิเกอร์ อันนี้ไม่แปลก คนเราย่อมคิดไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่มันเกิดขึ้นคือว่าจากปัญหาแผนกกีฬาของบีบีซี ที่งานมันไม่เดินทั้งเสาร์และอาทิตย์ ทำให้ต้องนำรายการอื่นๆเสียบแทน รายการกีฬาที่ไม่สามารถผลิตออกมาได้ เพราะต้องพึ่ง พิธีกร, ผู้บรรยาย, นักวิเคราะห์ ทำงาน
มันป่วนไปหมดแล้ว...ถึงขั้นที่แหล่งข่าวบอกว่า สภาพในบีบีซี เวลานี้เหมือน สารคดีปลอมๆ สักเรื่องหนึ่งที่โด่งดัง (mocumentary) ในอังกฤษเรื่อง W1A (ลองไปหาดูกันครับ)
เอาละครับ....ประเด็นที่ถกเถียงตอนนี้มี 2 เรื่อง
1 แกรี่ ลินิเกอร์ สามารถแสดงทัศนะอย่างเสรีได้หรือไม่
2 บีบีซี จะแก้ไขวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่อย่างไร
อธิบายข้อ1 ก่อนนะครับ....แกรี ลินิเกอร์ เป็นพิธีกรของบีบีซี ในสถานะ "ลูกจ้างชั่วคราว" หรือฟรีแล้นส์ ไม่ใช่พนักงานประจำขององค์กร
เขา ทำงานกับบีบีซี ในฐานะฟรีแล้นส์ มาตั้งแต่ปี 1999 ต่อสัญญาครั้งล่าสุดปี 2020 สิ้นสุดสัญญาปี 2025 รับเงินปีละ £1.35 ล้าน หรือประมาณ 57 ล้านบาท
โดยการแสดงทัศนะทางการเมืองของเขาเกิดขึ้นใน ทวิตเตอร์ ส่วนตัว ซึ่งในหลักการของบีบีซี นั้น พนักงานประจำ นักข่าวทั้งหมดต้องทำตามแนวทางของบริษัทในแง่ของ "โซเชียลส่วนบุคคล" นั้นให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของบีบีซีด้วย ทุกคนมีอิสระในการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว แต่ต้องอยู่ภายใต้แนวนโยบายบีบีซี เพื่อหลีกเลี่ยงการนำบีบีซีไปสู่ความเสื่อมเสีย
กลุ่มคนอื่นๆที่ไม่ใช่นักข่าวหรือเกี่ยวข้องกับงานส่วนการออกอากาศ ซึ่งอาจไม่ได้มีความรับผิดชอบเป็นพิเศษจากบีบีซี แต่ข้อมูลของพวกเขาอยู่กับบีบีซี ทางองค์กรคาดหวังว่ากลุ่มคนเหล่านี้ ควรหลีกเลี่ยงการเลือกข้างทางการเมืองหรือความขัดแย้งทางการเมือง และระมัดระวังในการนำเสนอเรื่องความคิดเห็นเชิงนโยบาย
นี่ไงครับ.....เส้นบางๆระหว่าง ฟรีแล้นส์เซอร์ กับ พนักงานประจำ ต่อการแสดงออกทางความคิดอย่างเสรี โดยเฉพาะเรื่องการเมือง
ประเด็นเรื่อง "สิทธิ" ในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี นั้นถูกโต้เถียงกันมาก เวลานี้บรรดาคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์มาตรฐาน รวมทั้งพิธีกรชื่อดังทางทีวีของอังกฤษที่ไม่ใช่รายการกีฬา สนับสนุน ลินิเกอร์ กันเยอะ
อย่างเช่น เพียร์ส มอร์แกน ก็กระแทกผู้บริหารบีบีซี หนักๆว่า "ไร้สาระ"ที่พักงาน ลินิเกอร์ และ ลินิเกอร์ ควรแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้
ส่วนกลุ่มต่อต้านจะบอกว่า ลินิเกอร์ มีรายได้จากบีบีซี ซึ่งได้รับงบประมาณส่วนหนึ่งมาจากการที่รัฐบาลอังกฤษออกกฏหมายใบอนุญาตทีวีหรือ TV Licensing มานานแล้ว
ดังนั้น ลินิเกอร์ ไม่ควรวิจารณ์การเมือง
อ้า....โลกของประเทศประชาธิปไตยเขาก็เถียงกันสนุกแบบนี้ เพราะยังไงย่อมมีคนคิดต่าง
ส่วนผู้บริหารบีบีซี จะแก้วิกฤตยังไงนั้น...ตอนนี้ก็รอดูนะครับ แต่แว่วๆมาว่าผู้บริหารคนปัจจุบันไม่ได้มาจากสายข่าวแต่เป็นนักการตลาด ไม่มีความรู้เรื่องข่าว และการสื่อสารทั้งในและนอกองค์กร อีกทั้งผู้บริหารบีบีซีระดับสูงหลายคนในชุดปัจจุบันยังมีสายสัมพันธ์กับคนในรัฐบาลอังกฤษ (นึกว่ามีแต่ประเทศแถวนี้) จนถูกกล่าวหาว่าเป็น นายหน้าของรัฐบาลหรือ Tory agent (ทอรี ชื่อเรียกพรรคอนุรักษ์นิยมที่เป็นรัฐบาลอังกฤษเวลานี้)
ยังมีเรื่องผู้บริหารบีบีซี มีส่วนพัวพันเรื่องเงินทุนกับนาย บอริส จอห์นสัน อดีตนายกฯอังกฤษ (เขียนแล้วเดี๋ยวยาว)
ดังนั้นเรื่องการพักงาน ลินิเกอร์ กำลังถูกโยงเข้าไปยังการเมือง ด้วยเพราะบีบีซี ต้องการเอาใจรัฐบาลอังกฤษที่มีนายกรัฐมนตรี ริชี ซูนาค (อย่าอ่านผิดนะ) เป็นหัวหน้าคณะและกำลังเดินหน้ากับนโยบายกีดกันผู้อพยพที่เข้าประเทศมาแบบผิดกฏหมายเพื่อขอลี้ภัยนั่นเอง
จากกรณี Linekergate ทำให้เราได้เห็นอะไรหลายอย่างในประเทศที่พัฒนาแล้วระดับท็อปของโลกอย่าง อังกฤษ อย่างน้อยได้เห็นบุคลากรฟุตบอลอังกฤษนี่เขาเล่นกันเป็นทีมจริงๆ มีน้ำหนึ่งใจเดียวกันต่อเรื่องที่พวกเขามองว่าบีบีซี พักงาน ลินิเกอร์ อย่างไม่เป็นธรรม และลินิเกอร์ ต้องแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี
โดยการต่อสู้ทางความคิดระหว่าง องค์กรใหญ่ กับ บุคลากรฟุตบอลชั้นนำของประเทศครั้งนี้....จะออกไปทางไหน
บทสรุปเรื่องนี้จะบานปลายหรือจบง่ายๆ
ผมเองก็อยากเห็นเหมือนกันว่ามันจะจบแบบไหน
แตกหักหรือว่าประนีประนอมกันแน่
JACKIE