รูปปั้น แจ๊ค เลสลี่ กางแขนดีใจตั้งอยู่หน้าสนาม โฮมพาร์ค.. เขาคือตำนานของสโมสรพลีมัธ อาร์ไกล์ เป็นนักเตะผิวดำคนเดียวในวงการลูกหนังอังกฤษช่วงทศวรรษ 1920
เด็กหนุ่มจากย่านแคนนิ่งทาวน์ทางตะวันออกของกรุงลอนดอนมีพ่อเป็นชาวจาเมกา ลงใต้ไปปักหลักที่แคว้นเดวอนและจับคู่กับ แซมมี่ แบล๊ค ถล่มประตูให้ พลีมัธ อาร์ไกล์ อย่างสนุกสนานจนทำให้เกมรุกของทีมเป็นที่น่าเกรงขามระดับต้นๆ ในลีกดิวิชั่นสามของประเทศยุคนั้น
เลสลี่เป็นนักเตะผิวดำคนแรกที่ได้รับการเรียกตัวติดทีมชาติอังกฤษ มันเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1925 หรือเกือบ 40 ปีก่อนหน้าวันประวัติศาสตร์ที่ จอห์น ชาร์ลส์ ฟูลแบ๊กของเวสต์แฮม ยูไนเต็ด จะได้เป็นนักเตะผิวดำคนแรกที่ลงสนามให้ทีมสิงโตคำราม (ไม่ว่าจะชุดรุ่นอายุใด - ชาร์ลส์เล่นให้ทีมชาติอังกฤษชุดอายุไม่เกิน 18 ปี) การเรียกตัวครั้งนั้นถูกถอนออกไปในภายหลัง มีข่าวลือว่าเพราะสมาคมฟุตบอลอังกฤษไม่รู้สีผิวของเลสลี่ในทีแรก
ไม่เป็นไร.. ชื่อของเลสลี่อาจถูกลืมไปแล้วหรือไม่ได้เป็นที่จดจำจากใคร แต่สำหรับชาวพลีมัธและกองเชียร์พลีมัธ อาร์ไกล์ พวกเขาไม่เคยลืมผู้เล่นตำแหน่งในซ้ายที่ตะบัน 137 ประตูจาก 401 นัด ตลอดเวลา 14 ฤดูกาลที่รับใช้สโมสร
เขาถึงมีรูปปั้นของตัวเองอยู่ที่นั่น.. ที่สนามโฮมพาร์ค
พลีมัธ คือทีมน้องใหม่แห่งศึกแชมเปี้ยนชิพอังกฤษฤดูกาลนี้ครับ พวกเขาเลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นด้วยฐานะแชมป์จากลีกวันเมื่อฤดูกาลที่แล้ว เป็นการกลับสู่ลีกระดับสองของประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี
ยังไม่เคยเล่นในลีกสูงสุดตลอดประวัติศาสตร์ 137 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งสโมสร..
"ใช่ๆ พวกเรายังไม่เคยเล่นในลีกสูงสุดของประเทศเลย แล้วก็ตื่นเต้นเป็นบ้ากับแชมเปี้ยนชิพที่กำลังจะมาถึง" หนุ่มใหญ่แฟนบอลพลีมัธบอกผมอย่างนั้น เขาหยุดเดินทันทีและแสดงน้ำใจถ่ายรูปให้หลังจากเห็นผมกำลังวุ่นวายวางโทรศัพท์ตั้งกล้องถ่ายตัวเองหน้าสนาม เป็นไมตรีจากคนท้องถิ่นที่ผมได้รับบ่อยครั้งในการมาเที่ยวอังกฤษกับคุณต่ายและท่านประธานเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
โอกาสใกล้ที่สุดของพลีมัธกับลีกสูงสุดคือการได้อันดับ 4 ในระดับดิวิชั่นสองเมื่อฤดูกาล 1931/32 กับ 1952/53 อีกแค่สองอันดับเท่านั้นก็จะได้สถานะทีมระดับลีกสูงสุดไปแล้ว (เวลานั้นการเลื่อนชั้นยังให้โควต้าแค่ 2 ทีม)
แน่นอนครับ พลีมัธ อาร์ไกล์ เป็นเพียงสโมสรเล็กๆ ไม่ได้เป็นที่พูดถึงมาก ไม่มีคู่ปรับร่วมเมืองเป็นศึกดาร์บี้แมตช์ จะมีก็แค่การฟาดฟันกันในกลุ่มที่เรียกว่า West Country derby คือแคว้นต่างๆ ที่รวมตัวกันอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศมากกว่า แคว้นเหล่านี้ประกอบไปด้วย กลอสเตอร์เชียร์ วิลต์เชียร์ ซอเมอร์เซต บริสตอล ดอร์เซต เดวอน และ คอร์นวอลล์
จะมีเข้มข้นขึ้นมาหน่อยสำหรับแฟนบอลของพลีมัธก็อาจจะเป็นเกมที่ฉะกับ เอ๊กเซเตอร์ ซิตี้ และ ทอร์คีย์ ยูไนเต็ด สองทีมนี้อยู่ร่วมแคว้นเดวอนกับพวกเขา เจอกันเมื่อไหร่ในกลุ่มสามทีมนี้ก็จะเป็นศึกเดวอนดาร์บี้
ผมนึกไม่ออกเหมือนกันว่าครั้งประจำการอยู่ที่อังกฤษสามปีตั้งแต่ฤดูกาล 2006/07 ถึง 2008/09 เคยลงใต้มาพลีมัธไหม กับเกมลีกนั้นไม่เคยแน่ ถ้าจะมีก็คือฟุตบอลถ้วยอย่างเอฟเอ คัพ หรือ ลีก คัพ แต่ถ้าจำไม่ผิดก็ไม่น่าจะเคย
ทริปที่คุณต่ายวางแผนเอาไว้ให้เราเช่ารถขับตระเวนจากลอนดอนลงใต้ ไล่กวาดตั้งแต่หน้าผา Seven sisters cliffs ฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงสุดแหลมของแผ่นดินที่ Land's end ในฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ ปักหลักที่เอ๊กเซเตอร์ เก็บเมืองรอบๆ อย่างพลีมัธและบริสตอล แล้วค่อยๆ ตีขึ้นเหนือไปเบอร์มิงแฮม แมนเชสเตอร์ เลกดิสทริกต์ ก่อนไปจบที่เอดินเบิร์กแล้วค่อยคืนรถ นั่งรถไฟลงลอนดอน จึงทำให้ผมได้เห็นอะไรที่ไม่เคยเห็นอีกมาก
การเดินทางเมื่อครั้งทำงานเป็นนักข่าวสยามสปอร์ตประจำอังกฤษเป็นการนั่งรถไฟไม่ได้ขับรถเองครับ มันจึงเป็นครั้งแรกที่ผมขับรถในอังกฤษซึ่งแม้จะขับเป็นสบายๆ แต่ก็ต้องตกอยู่ในสภาวะงกๆ เงิ่นๆ พอสมควรยามขับในเมือง ทั้งเรื่องที่จอดรถ ถนนสายเล็กสายน้อยที่บางทีชวนสับสนกับแผนที่ในจีพีเอส แต่มันก็ทำให้เรามีประสบการณ์
ทริปนี้ผมจึงมีโอกาสได้สัมผัสสนามอื่นๆ ในแดนใต้อย่าง เซนต์ เจมส์ พาร์ค ของ เอ๊กเซเตอร์ ซิตี้ จากลีกวัน สนามเมมโมเรียล สเตเดี้ยม ของบริสตอล โรเวอร์ส ในลีกวัน และ สนามแอชตัน เกต ของบริสตอล ซิตี้ แห่งแชมเปี้ยนชิพไปด้วย
ทั้งหมดนี้มีเพียง บริสตอล ซิตี้ ทีมเดียวที่เคยเล่นในลีกสูงสุด แต่ เดอะโรบินส์ ก็เล่นในดิวิชั่นหนึ่งเดิมรวมกันทั้งหมดแค่ 9 ฤดูกาลเท่านั้นในประวัติศาสตร์ 129 ปีของสโมสร ตกชั้นไปเมื่อฤดูกาล 1979/80 แล้วก็ไม่เคยกลับขึ้นมาอีกเลย
ส่วน เอ๊กเซเตอร์ ซิตี้ อายุ 122 ปี เพิ่งเลื่อนชั้นจากลีกทูขึ้นมาลีกวันในรอบสิบปีเมื่อฤดูกาลก่อน และ บริสตอล โรเวอร์ส อายุ 140 ปีแล้วทำได้ดีที่สุดแค่อันดับ 6 ของดิวิชั่นสอง
แน่นอนครับในแง่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่พวกเขาคงไม่อาจสู้เหล่ามหาอำนาจทั้งอดีตและปัจจุบันได้ พลีมัธเคยได้แค่แชมป์ดิวิชั่นสาม บริสตอล โรเวอร์สก็เช่นกัน เอ๊กเซเตอร์ ซิตี้ เคยได้แค่แชมป์ดิวิชั่นสี่ ส่วน บริสตอล ซิตี้ เคยได้แชมป์ดิวิชั่นสองเมื่อเกือบร้อยยี่สิบปีที่แล้ว และเคยเข้าชิงเอฟเอ คัพครั้งเดียวแต่ก็เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1909 ซึ่งลงเอยด้วยความพ่ายแพ้ต่อแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
กระนั้นแต่ละสโมสรก็มีความภาคภูมิใจของตัวเอง มีเรื่องราวเล่าขานที่เป็นของตัวเอง
เอ๊กเซเตอร์ ซิตี้ มีแฟนบอลเป็นเจ้าของ
กลุ่มกองทุน Exeter City Supporters' Trust หรือที่พวกเขาเรียกกันสั้นๆ ว่า The Trust ถือหุ้น 53.6% ของสโมสร มีมอตโต้ประจำกลุ่มว่า We Own Our Football Club กลิ่นอายความภาคภูมิรุนแรง
พวกเขารวมตัวกันระดมทุนเพื่อซื้อสโมสรหลังจากทีมตกชั้นไปเล่นนอกลีกเมื่อปี 2003 และประธานกับรองประธานสโมสรถูกจับกุมในข้อหาทุจริต ทิ้งหนี้สินเอาไว้ 4.5 ล้านปอนด์ ถ้าไม่ทำอะไรเลยก็คงต้องเห็นสโมสรล้มละลายไปต่อหน้าต่อตา
จากวันนั้นถึงวันนี้ เอ๊กเซเตอร์ ซิตี้ ต่อสู้จนได้สถานะทีมในลีกอาชีพคืนมา ทีมยืนหยัดและก้าวเดินอย่างมั่นคงขึ้น ฤดูกาลที่แล้วเป็นฤดูกาลแรกในรอบสิบปีที่พวกเขาขยับขึ้นมาเล่นในระดับดิวิชั่นสามของประเทศหรือลีกวัน
นี่คือหนึ่งในทีมที่มีแฟนบอลเป็นเจ้าของสโมสรจริงๆ ทั้งในด้านพฤตินัยและนิตินัย
สนาม เซนต์ เจมส์ พาร์ค ของ เอ๊กเซเตอร์ ซิตี้ วางตัวอยู่ในชุมชน มีบ้านคนล้อมรอบ หลายๆ สนามในอังกฤษเป็นอย่างนั้น เมมโมเรียล สเตเดี้ยม ของบริสตอล โรเวอร์ส ก็เช่นกัน มันตั้งอยู่ทางเหนือของเมืองบริสตอล คนละฝั่งเมืองกับ แอชตัน เกต ของ บริสตอล ซิตี้ ทีมร่วมเมืองที่ใหญ่กว่า ทันสมัยกว่า สมกับที่เป็นสโมสรซึ่งประสบความสำเร็จมากกว่า
ชื่อ เมมโมเรียล สเตเดี้ยม นั้นมีที่มา มันถูกใช้ชื่อนี้เพื่อเป็นการรำลึกถึงนักรักบี้จากเมืองบริสตอลที่เสียชีวิตจากการไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
วันที่ผมไปเยือน เมมโมเรียล สเตเดี้ยม อัฒจันทร์ยืนหลังประตูฝั่งทิศใต้ถูกทุบทิ้งกลายเป็นพื้นที่โล่งเตียนเพื่อเตรียมสร้างใหม่ ผมยืนอยู่บนอัฒจันทร์ฝั่งทิศเหนือ แบล็คธอร์น เทอร์เรซ ซึ่งเป็นอัฒจันทร์ยืนของกองเชียร์เจ้าถิ่น ยังมีธงและแผ่นผ้าประกาศศักดาความเป็นโรเวอร์สแขวนยาวตลอดชายคา
พื้นเป็นปูนเรียบยาวปราศจากเก้าอี้ มีราวรั้วให้ยืนจับ หลังคาอัฒจันทร์มีเสาค้ำ กลิ่นไอความเก่าปกคลุม มันคือสแตนด์ยืนเชียร์ในแบบสนามฟุตบอลดั้งเดิมจริงๆ
ฉายาของ บริสตอล โรเวอร์ส คือ เดอะไพเรตส์ หรือ เจ้าโจรสลัด มันล้อไปกับประวัติศาสตร์ของเมืองที่เคยเป็นแหล่งพำนักของกลุ่มโจรสลัดบางกลุ่มด้วยทำเลตั้งอยู่ปากแม่น้ำซีเวิร์น (River Severn) ซึ่งไหลลงสู่ช่องแคบบริสตอลก่อนออกสู่ผืนน้ำกว้างใหญ่แห่งทะเลเซลติก
โลโก้ของสโมสรก็เป็นรูปโจรสลัดยืนเหยียบลูกฟุตบอล ดูเท่และแปลกตาไม่เบาทีเดียว
อีกฉายาของโรเวอร์สที่ผู้คนเรียกกันคือ เดอะแก๊ส (The Gas) รวมทั้ง แก๊สเฮดส์ (Gasheads) เพราะมีโรงงานผลิตแก๊สเชื้อเพลิงอยู่ใกล้ๆ อีสต์วิลล์ สเตเดี้ยม สนามเหย้าเดิมของสโมสร
จริงๆ แล้ว บริสตอล โรเวอร์ส ใช้ชื่อตอนก่อตั้งสโมสรเมื่อปี 1883 ว่า แบล๊คอาหรับส์ (Black Arabs) ครับ เป็นชื่อที่ตั้งตามทีมรักบี้ The Arabs ที่มีสนามแข่งติดกันในเวลานั้น แต่เพียงแค่ปีเดียวก็เปลี่ยนชื่อเป็น อีสต์วิลล์ โรเวอร์ส ตามย่านที่สโมสรตั้งอยู่เพื่อขยายฐานแฟนบอลให้กว้างขึ้นก่อนจะเปลี่ยนชื่ออีกรอบเป็น บริสตอล โรเวอร์ส เมื่อปี 1899
จากเมมโมเรียล สเตเดี้ยม มุ่งหน้าลงใต้เป็นระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตรผ่านใจกลางเมืองก็จะมาถึงสนามแอชตัน เกต ของบริสตอล ซิตี้ เพื่อนร่วมเมือง
แอชตัน เกต เป็นสนามฟุตบอลที่ใหญ่และใหม่กว่า เมมโมเรียล สเตเดี้ยม มาก มันเพิ่งผ่านการบูรณะปรับปรุงใหม่เมื่อไม่ถึงสิบปีที่ผ่านมานี้เอง ความจุ 27,000 คนนั้นเยอะกว่าความจุ 9,832 คนของเพื่อนร่วมเมืองเกือบ 3 เท่า และนับว่าเหลือเฟือกับขนาดของทีมที่อยู่ในระดับแชมเปี้ยนชิพเวลานี้
ด้านหัวมุมสนามฝั่งหนึ่งมีรูปปั้นของ จอห์น อัตเยโอ ยืนชูมือทั้ง 2 ข้างขึ้นฟ้า
อัตเยโอคือตำนานของบริสตอล ซิตี้ เป็นศูนย์หน้าที่รับใช้สโมสรนานถึง 15 ปีช่วงระหว่างปี 1951 ถึง 1966 และยังเคยทะลุขึ้นไปติดทีมชาติอังกฤษอีก 6 นัด
ตัวเลข 351 ประตูจาก 645 เกมของเขาคือสถิติสูงสุดตลอดกาลของสโมสรชนิดทิ้งห่างคนที่ตามมาใกล้ที่สุดอย่าง ทอม ริทชี่ หัวหอกในยุคปลายซิกซ์ตี้ส์ถึงต้นเอจตี้ส์ (132 ประตูจาก 504 เกม) ถึงเกือบ 3 เท่าตัว
อัฒจันทร์ด้านหนึ่งของ แอชตัน เกต ตั้งตามชื่อเขา.. อัตเยโอ สแตนด์
ได้แวะไปเยี่ยมเยือนสนามต่างๆ เหล่านี้ แม้จะได้สัมผัสกับมันไม่มากนัก แต่มันก็เป็นการยืนยันเรื่องเดิมๆ กับผม
ทุกๆ ที่ล้วนมีประวัติศาสตร์
ทุกที่ ทุกทีม ทุกสโมสร ต่างก็มีประวัติศาสตร์ของตัวเอง มีเรื่องราวเล่าขานที่พวกเขาภาคภูมิใจ
ไม่เกี่ยงว่าต้องเป็นทีมใหญ่หรือทีมเล็ก ไม่เกี่ยวว่าต้องเป็นทีมเล็กหรือทีมใหญ่
แจ๊ค เลสลี่ คือใคร สนามเซนต์ เจมส์ พาร์ค กับ เมมโมเรียล สเตเดี้ยม เป็นของใคร จอห์น อัตเยโอ คือใคร.. แน่นอนครับในความคุ้นเคยของเราแล้วคงแทบไม่รู้จัก ผมเองก็ไม่เคยรู้จักพวกเขามาก่อน
แต่ไม่รู้ ใช่ว่าจะไม่มีอยู่ หรือไร้ซึ่งคุณค่า.. ถ้าเราไปถามคนพลีมัธ คนเอ๊กเซเตอร์ หรือคนบริสตอล พวกเขาคงจะตอบเราได้เป็นฉากๆ และนั่งคุยกับเราได้ทั้งวันถึงเรื่องราวอันเป็นที่มาที่ไปและบุคคลผู้เป็นแรงบันดาลใจของพวกเขา
ดินแดนแถบตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษอาจด้อยความสำเร็จเมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่นของประเทศ แชมป์ลีกสูงสุดรวมกันเท่ากับศูนย์และเวลานี้มีเพียง บอร์นมัธ แห่งแคว้นดอร์เซตทีมเดียวที่เล่นในระดับพรีเมียร์ลีก แต่พวกเขาเหล่านั้นก็ล้วนมีเรื่องราวเล่าขานของตัวเอง
บริสตอล ซิตี้ อันดับ 12 แชมเปี้ยนชิพ
พ่อยังคงจูงลูก..
พลีมัธ อาร์ไกล์ อันดับ 20 แชมเปี้ยนชิพ
ปู่ยังคงจูงหลาน..
บริสตอล โรเวอร์ส อันดับ 11 ลีกวัน
พี่ยังคงกอดคอน้องเดินไป..
เอ๊กเซเตอร์ ซิตี้ อันดับ 20 ลีกวัน
เพื่อนยังคงนัดเจอกันหน้าประตูทางเข้า..
ในแต่ละเกม แต่ละแมตช์ แต่ละสัปดาห์ แฟนบอลจากรุ่นสู่รุ่นยังคงออกจากบ้านเดินทางไปสนามเพื่อเชียร์ทีมประจำถิ่นของตัว
รากฐานของฟุตบอลอังกฤษจึงยังมั่นคงแข็งแรง ด้วยประวัติศาสตร์น้อยใหญ่เหล่านั้นผูกพันฟั่นเกลียวเป็นเชือกหนา ทุกทีมต่างก็มีส่วนร่วมในการสร้างสังคมฟุตบอลส่วนรวม..
ตังกุย