ตอนแรก My way.. แจ๊ค กรีลิช - ดีแคลน ไรซ์ >> https://www.siamsport.co.th/football-international/national-team/61657/
บุคคลที่มีบทบาทมากในการตัดสินใจเปลี่ยนมาเล่นให้ทีมชาติอังกฤษของ แจ๊ค กรีลิช และ ดีแคลน ไรซ์ คือ แดน แอชเวิร์ธ..
แอชเวิร์ธคนเดียวกับที่เคยเป็นผู้อำนวยการกีฬาของ ไบรท์ตัน และ นิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด ที่ปัจจุบันย้ายไปอยู่กับ แมนยู นั่นล่ะครับ เขาคือคนที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของสมาคมฟุตบอลอังกฤษในการโน้มน้าวใจนักเตะทั้ง 2 คนให้มารับใช้ทีมสิงโตคำราม
ไม่ใช่งานง่าย ๆ เลยเมื่อคำนึงถึงความเป็นจริงที่ทั้งคู่ต่างก็เล่นให้ไอร์แลนด์มาตั้งแต่ชุดอายุไม่เกิน 17 ปี ไต่ขึ้นมาถึงชุดอายุไม่เกิน 21 ปี เป็นนักเตะยอดเยี่ยมแห่งปีของทีมชาติ รายของ ไรซ์ ยังขึ้นไปถึงการลงสนามให้ทีมชุดใหญ่อีก 3 นัดด้วย (เป็นเกมอุ่นเครื่องทั้งหมดจึงยังมีสิทธิ์เปลี่ยนไปเล่นให้ชาติอื่นที่ตัวเองมีสิทธิ์)
เวลานั้นแอชเวิร์ธ ยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเพื่อความเป็นเลิศของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (เอฟเอ) เขาทราบดีถึงความจริงจังที่ กรีลิช และ ดีแคลน ไรซ์ มีต่อไอร์แลนด์ แต่ถ้าอยู่เฉย ๆ ยอมรับสภาพมันก็เหมือนเพียงรอเวลาที่ทั้ง 2 คนจะหลุดมือจากทีมชาติอังกฤษถาวรเท่านั้น
เขาเดินเกมติดต่อตัวแทนของนักเตะ ดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่รีบร้อน ไม่เร่งรัด ไม่แข็งกร้าว ไม่กดดันนักเตะให้ต้องรีบตัดสินใจเพราะถ้ามีอะไรผิดพลาดขึ้นมาคุณจะเสียเขาไปตลอดกาล
ในกรณีของ ดีแคลน ไรซ์ คนที่มีบทบาทมาก ๆ อีกคนร่วมกับแอชเวิร์ธคือ แกเร็ธ เซาธ์เกต กุนซือทีมชาติอังกฤษ ทั้งคู่พูดคุยและให้คำแนะนำเรื่องข้อดีในการเล่นให้ทีมชาติอังกฤษกับกองกลางดาวรุ่งของเวสต์แฮม ยูไนเต็ด
ส่วนรายของ แจ๊ค กรีลิช ทีมงานที่เป็นตัวช่วยของแอชเวิร์ธนอกจาก เซาธ์เกต ที่ ณ เวลานั้นยังคุมทีมชาติอังกฤษชุดอายุไม่เกิน 21 ปีที่เป็นคนต่อโทรศัพท์สายตรงไปคุยกับดาวรุ่งแอสตัน วิลล่า แล้วก็ยังมีคนอื่น ๆ ช่วยอีกด้วย
จอห์น พีค็อค โค้ชทีมชาติอังกฤษชุดอายุไม่เกิน 17 ปีรับหน้าที่คุยกับครอบครัวของกรีลิช
และ เคนนี่ สเวน โค้ชชุดยู-16 ที่ถือเป็นความโชคดีของแอชเวิร์ธและเอฟเอ เพราะ สเวน คือแบ๊กขวา แอสตัน วิลล่า ชุดแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ ปี 1982
ในค่ำคืนยิ่งใหญ่ที่โค่น บาเยิร์น มิวนิค ที่ร็อตเตอร์ดัมวันนั้น เคนนี่ สเวน ลงสนามเต็ม 90 นาที
ถ้าจะมีใครสักคนในเอฟเอที่ทำหน้าที่เกลี้ยกล่อมพูดคุยกับนักเตะดาวรุ่งของแอสตัน วิลล่า จะมีใครเหมาะสมไปกว่าหนึ่งในตำนานของสโมสรอย่าง เคนนี่ สเวน อีกเล่า
พีค็อกรำลึกถึงปฏิบัติการในครั้งนั้นว่า "แจ๊คเริ่มลังเล เราพยายามดึงแจ๊คออกมาจากไอร์แลนด์ และชักจูงให้เขาเลือกอังกฤษตั้งแต่ยังเด็ก ผมติดต่อสโมสร พูดคุยกับ แจ๊ค แต่เป็น เคนนี่ (สเวน) ที่คุยเชิงลึกกับพวกเขา เคนนี่คนที่เป็นตำนานของแอสตัน วิลล่า นั่นแหละ"
สเวน ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในคนที่ปลุกปั้นดาวรุ่งได้เก่งที่สุดในประเทศ บอกว่า "ทีมงานของเราค้นพบแจ๊คตั้งแต่ตอนที่เขาอายุ 15 แต่เขาเลือกไอร์แลนด์ที่มอบโอกาสลงเล่นในทีมรุ่นพี่ให้มากกว่า
"นั่นคืออุปสรรคของเราอยู่เหมือนกัน แต่เราต้องอดทน ผมยื่นโอกาสให้เขาไป 3 รอบ ยังไม่ได้ให้มาเล่นให้อังกฤษแต่แค่ให้เขาเข้ามาซึมซับในแคมป์เยาวชนและมีทัวร์นาเมนต์
"สองในสามครั้งนั้นเขากลับบ้านอย่างรวดเร็ว ครั้งแรกเพราะมีอาการเจ็บ ส่วนครั้งที่สองเขารู้สึกไม่ค่อยสบายและทีมแพทย์แนะนำให้เขากลับบ้าน
"ในวัยเพียงแค่นั้น คุณต้องไม่ใส่แรงกดดันให้นักเตะมากเกินไป
"เวลายืดจากหนึ่งปีเป็น 18 เดือน จอห์น (พีค็อก) ไปดูฟอร์มเขาที่ไอร์แลนด์ เราทำคะแนนได้ดีมากแล้วจากแอสตัน วิลล่า ผมชวนเขาไปเซนต์ จอร์จส์ พาร์ค เพื่อพบกับ โนเอล เบล๊ค ผู้จัดการทีมชุดยู-19 และ แดน แอชเวิร์ธ
"เราทำงานกันสุดชีวิตเพราะรู้ดีว่าเขาเป็นนักฟุตบอลที่ยอดเยี่ยมแค่ไหน แต่กว่าจะชนะใจเขาได้ก็เลือดตาแทบกระเด็นเหมือนกันเพราะไอร์แลนด์มอบโอกาสให้เขามากมายเหลือเกิน"
มันคือการทำงานเป็นทีม และปฏิบัติการชิงหัวใจของ แจ๊ค กรีลิช ยังดำเนินต่อไปโดยมีคนเข้ามาเกี่ยวข้องมากกว่านั้น
สิงหาคม 2015 หลังจบเกมพรีเมียร์ลีกนัดฟรายเดย์ไนท์ที่ แอสตัน วิลล่า แพ้ แมนยู คาวิลล่า พาร์ค 0-1 กรีลิชในวัย 19 ปีที่คืนนั้นเป็นเพียงผู้ชมเพราะมีปัญหาบาดเจ็บถูกนำตัวไปยังห้องรับรองพิเศษของสนาม
เมื่อเปิดประตูเข้าไป เขาก็พบกับคนที่กำลังนั่งรอเขาอยู่
รอย ฮอดจ์สัน..
เวลานั้นฮอดจ์สันคือผู้จัดการทีมชาติอังกฤษ เขาเดินทางมาที่ วิลล่า พาร์ค เพื่อดูฟอร์มนักเตะอังกฤษของทั้ง 2 ทีมและอีกภารกิจหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการทำความเข้าใจกับกรีลิชว่าเพราะอะไรเขาถึงควรเลือกเล่นให้ทีมทรีไลออนส์
สิ่งแรกเลยที่ฮอดจ์สันทำก็คือ ห้าม เดวิด มานาสเซห์ เอเยนต์ส่วนตัวของกรีลิชไม่ให้เข้ามายุ่งในการพูดคุยกันระหว่างเขากับกรีลิช เขาขอคุยกับนักเตะเป็นการส่วนตัว ไม่มีข้อต่อรองใด ๆ ทั้งสิ้น แม้ว่าที่ผ่านมามานาสเซห์จะอยู่กับกรีลิชในทุกการเจรจาก็ตาม
"ผมเป็นผู้จัดการทีมชาติอังกฤษ นายหน้าส่วนตัวจะเจรจากับฝ่ายบริหาร หรือบางทีก็อาจจะพูดคุยกับผู้จัดการทีม แต่ในฐานะผู้จัดการทีมชาติอังกฤษ ผมจะไม่คุยกับพวกนายหน้า
"ผมอยากจะคุยกับนักเตะมากกว่า อยากจะคุยกับผู้จัดการทีมของพวกเขามากกว่า และยินดีอย่างยิ่งที่จะได้คุยกับพ่อแม่หรือผู้ปกครองของเขา แต่กับพวกนายหน้าที่จะคอยพูดนู่นนี่นั่นบนโต๊ะเจรจานั้นไม่ใช่คนที่ผมจะคุยด้วย"
สาส์นจากฮอดจ์สันนั้นชัดเจน จะคุยเรื่องเงิน เรื่องสัญญา เรื่องอนาคตกับสโมสรเชิญเอเยนต์ทำงานตามสะดวก แต่สำหรับการรับใช้ทีมชาติไม่ใช่เรื่องของเอเยนต์ ไม่ใช่เรื่องการรักษาผลประโยชน์ของใคร แต่เป็นเรื่องระหว่างนักเตะกับทีมชาติ
สิ่งที่ฮอดจ์สันคุยกับกรีลิชในวันนั้นไม่ใช่การการันตีตำแหน่งตัวจริงในทีมชาติเพื่อมัดใจให้ตัวนักเตะเลือกทีมชาติอังกฤษ มันตรงข้ามกันเลย เพราะปู่รอยบอกกรีลิชว่าผมไม่สามารถรับประกันตำแหน่งในทีมชาติให้คุณได้หรอกนะ แต่นักเตะคนอื่น ๆ ก็ไม่มีใครได้รับการการันตีตำแหน่งในทีมเหมือนกัน ทว่าอย่างน้อยผมขอรับรองได้ว่าทีมชาติอังกฤษจะเฝ้าดูคุณ จะรอคุณ เพราะเรามองคุณเป็นส่วนหนึ่งในอนาคตของทีม
เป็นใครเจอคารมของปู่รอยเข้าไปอย่างนี้ก็มีโอกาสหวั่นไหวนะครับ มันมีทั้งความท้าทายและวิงวอนอยู่ในตัว ยังไม่รวมความจริงเรื่องเหตุผลประกอบอื่น ๆ ที่ควรจะเลือกอังกฤษ
เมื่อคุณยังเด็กคุณอาจตัดสินใจเลือกไม่ยากหรอก ทุกอย่างเป็นไปตามแพสชั่นและอารมณ์ ขอรับใช้ไอร์แลนด์ที่เห็นคุณค่าและมอบโอกาสให้เราก่อน มีเพื่อน มีสังคม มีการต้อนรับอันอบอุ่นที่นั่น รู้สึกถึงความเป็นคนสำคัญ อยู่แล้วมีความสุข
ไม่ต้องคิดอะไรมาก เล่นให้ไอร์แลนด์ตั้งแต่แรกก็ขอเล่นให้ไอร์แลนด์ตลอดไป อังกฤษน่ะเหรอไปไกล ๆ เลย
แต่เมื่อเวลาผ่านไป ตัวคุณเองเติบโตขึ้น ได้เห็นอะไรมากขึ้น การตัดสินใจของคุณก็จะมีเหตุผลมาประกอบมากขึ้น มีคำแนะนำจากคนรอบข้าง คนในครอบครัว เอเยนต์ส่วนตัว สโมสรต้นสังกัด และความรับผิดชอบอื่น ๆ ทั้งหมดล้วนมีผลต่อการตัดสินใจของคุณทั้งสิ้น ยิ่งเป็นการตัดสินใจที่จะส่งผลต่ออนาคตการเป็นนักฟุตบอลของคุณจริง ๆ อย่างนี้ เลือกแล้วคือเลือกเลย ย้ายไปเล่นให้อีกชาติหนึ่งไม่ได้แล้วแบบนี้ คุณก็อาจจะมีความคิดอีกแบบหนึ่งเข้ามาก็ได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันมีการเปรียบเทียบที่ชัดเจนระหว่าง 2 ชาติที่คุณมีสิทธิ์เล่นให้
อังกฤษ กับ ไอร์แลนด์.. หากย้อนกลับไปสัก 20-30 ปีที่แล้วอาจเห็นไม่ชัดเท่านี้เพราะทีมยักษ์เขียวยังปรากฏตัวในทัวร์นาเม้นต์ใหญ่และสร้างผลงานดี ๆ ให้เห็นเป็นระยะ แต่ไม่ใช่กับเวลานี้ที่การได้ประทับตราว่าเป็นนักเตะทีมชาติอังกฤษจะยังส่งผลดีให้อีกมากมายนอกเหนือจากแค่ในสนามฟุตบอล
เมื่อถึงเวลาต้องเคาะโต๊ะตัดสินใจขั้นเด็ดขาดเข้าจริง ๆ คำตอบจึงอาจไม่ใช่คำตอบเดียวกันกับที่มีเมื่อครั้งยังเด็กแล้ว
ในความหวั่นไหวของกรีลิช คนสุดท้ายที่เข้ามามีบทบาทตอกย้ำการตัดสินใจของเขาคือ ทิม เชอร์วู้ด
อดีตกองกลางทีมชาติอังกฤษที่เวลานั้นเป็นผู้จัดการทีมแอสตัน วิลล่า คือคนที่เด็กหนุ่มเข้าไปขอคำปรึกษา
"เขามีความกดดันกดทับอยู่ มุมมองของผมก็คืออยากให้เขาเลือกตามที่หัวใจบอก เขาเล่นให้ไอร์แลนด์ชุดยู-21 และพวกเขาก็มอบรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมแห่งปีให้ นั่นคือความพยายามของพวกเขา และแน่นอนว่ามันเป็นช่วงเวลาที่ดี
"แต่ผมบอกกับแจ๊คว่า 'ถ้านายเป็นลูกฉัน ฉันจะแนะนำให้นายเล่นให้อังกฤษ'
"ไอร์แลนด์ในยุคผมอาจจะเป็นทีมที่ดี เข้าไปเล่นในทัวร์นาเมนต์ต่าง ๆ ได้ตลอดและทำผลงานน่าทึ่งหลายครั้ง แต่ผมแค่รู้สึกว่าอังกฤษมีศักยภาพที่จะประสบความสำเร็จได้ คุณอาจหัวเราะเยาะผมว่า 'เฮ้ ใจเย็นนิดนึง อังกฤษไม่เคยได้แชมป์อีกเลยนะนับตั้งแต่ปี 1966' ผมเข้าใจเรื่องนั้นดี แต่มันเป็นแค่ความรู้สึกว่าต้องมีช่วงเวลาที่อังกฤษทำได้ดีสิ
"ผมบอกเขาว่า 'ฉันคิดว่านายดีพอที่จะเล่นให้อังกฤษแน่ ๆ แต่การตัดสินใจเป็นของนายนะ' แล้วจากนั้นเขาก็บอกว่า 'ผมคิดว่าผมตัดสินใจได้แล้ว ผมจะเล่นให้อังกฤษ'"
แจ๊ค กรีลิช ชั่งใจอย่างหนักหน่วง ก่อนที่สุดท้ายแล้วเขาจะเลือกอังกฤษ ด้วยที่มาที่ไปมากมายซับซ้อน
มันไม่ใช่การตัดสินใจที่ง่ายดายแบบว่าไม่ต้องคิดอะไรเลยอย่างที่ ดีแคลน ไรซ์ อธิบาย ตรงกันข้ามทั้งคู่ต้องต่อสู้กับมันอย่างหนัก และเป็นการตัดสินใจที่หนักหนาสาหัสอย่างยิ่ง
แต่เมื่อเลือกแล้วก็ต้องเดินหน้าต่อไป และต้องพร้อมเผชิญหน้ากับสิ่งที่รออยู่ อย่างแรงกระแทกในช่วงแรก ๆ ที่ได้รับจากเพื่อนร่วมอาชีพบางคนที่เป็นไอริช หรือจากแฟนบอลยักษ์เขียวที่จะไม่มีวันลืมเรื่องนี้เลย อย่างที่ทั้งคู่ได้รับจากเกมไปเยือนดับลินเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
กระนั้นอย่างน้อยมันก็เป็นการเลือกทางเดินของตัวเอง เป็น My way ที่เลือกอย่างกลั่นกรองดีแล้วของทั้ง 2 คน