ไทยเร่งเจรจาเอเยนต์ฟีฟ่าขอลดราคาลิขสิทธิ์บอลโลก 1.5 พันล้านบาท

ไทยเร่งเจรจาเอเยนต์ฟีฟ่าขอลดราคาลิขสิทธิ์บอลโลก 1.5 พันล้านบาท
ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการกกท. ระบุ กำลังต่อรองกับเอเยนต์ฟีฟ่า ขอลดราคาลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ซึ่งของไทยนั้นอยู่ในเรตราคาเดียวกับ มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย ซึ่งคาดว่าอาจสูงถึง 40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1.5 พันล้านบาท ส่วนแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ซื้อลิขสิทธิ์หลักๆ จะมาจากเอกชน กกท.​ และ กสทช. ซึ่งในส่วนของ กกท. และ กสทช. กำลังหารือกันอย่างต่อเนื่องว่า จะใช้งบประมาณกันมากน้อยแค่ไหน

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยภายหลังประชุมระหว่าง บอร์ด กสทช. กับ ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เรื่องการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 เมื่อ 28 ต.ค.65 ว่า การประชุมครั้งนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากรายละเอียดต่างๆ ยังไม่ชัดเจน เป็นเพียงการพูดคุยหารือขอให้ทาง กสทช. ช่วยสนับสนุนให้มีการถ่ายทอดสด ทางบอร์ด กสทช. จึงได้ให้ทางสำนักงาน กสทช. เข้าไปทำงานร่วมกับ กกท. ดูรายละเอียดของค่าลิขสิทธิ์เป็นวงเงินเท่าไร ซึ่งรายละเอียดตรงนี้ยังไม่ชัดเจน ทำให้ทางบอร์ด กสทช. ยังพิจารณาไม่ได้

นายไตรรัตน์ กล่าวต่อว่า ในกรณีหาก บอร์ด กสทช. เห็นชอบมีมติสนับสนุน ก็ต้องมาดูรายละเอียดว่าจะใช้งบประมาณจากส่วนไหน อาจจะเป็นเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน USO) ได้หรือไม่ ต้องมาพิจารณาอีกครั้ง หรือจะมีเอกชนเข้ามาร่วมสนับสนุนด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากสามารถซื้อลิขสิทธิ์ได้มาแล้ว โดยภาครัฐเป็นผู้นำนั้น ในเรื่องการถ่ายทอดสดผ่านทีวี คิดว่าทางเทคนิคมีความพร้อม ไม่มีปัญหา ซึ่งก็จะมีการเฉลี่ยให้ทุกช่องได้ถ่ายทอดสดอย่างเท่าเทียม โดยตรงส่วนนี้ทาง กกท. คงจะเป็นผู้ดำเนินการเรื่องนี้กับทางช่องทีวีต่าง ๆ หากสามารถซื้อลิขสิทธิ์ได้มาแล้ว

ด้าน ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการกกท. เปิดเผยเพิ่มเติมว่า การหารือร่วมกัน ระหว่าง กกท. และ กสทช. นั้น ทุกอย่างยังเดินหน้าต่อไป ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เพียงแต่การประชุม เมื่อวันที่ 28 ต.ค.65 ยังขาดรายละเอียดอีกเล็กน้อยเท่านั้น โดยที่ทั้ง 2 หน่วยงาน จะมีประชุมกันต่อเนื่องอีกเพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมกันโดยเร็วที่สุด โดยหลักๆ แล้ว แหล่งเงินที่จะนำมาซื้อลิขสิทธิ์ หลักๆจะมาจากเอกชน กกท. และ กสทช.

 "ส่วนการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ยังเดินหน้า แม้ตัวเลขของไทย ที่อยู่ในเรตราคาเดียวกับ มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย ซึ่งพิจารณากันตามสภาพเศรษฐกิจ และ สังคม จะสูงถึง 40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1.5 พันล้านบาท แต่สุดท้ายคงไม่มากขนาดนั้น เพราะเราก็กำลังพูดคุยต่อรองกับเอเยนต์ฟีฟ่า ให้ราคาลดลงมาอยู่" ดร.ก้องศักด กล่าว

 อนึ่ง กสทช. คือ หน่วยงานที่ออกกฎ "มัสต์แฮฟ" (Must Have) โดยระบุว่า 7 มหกรรมกีฬา ที่คนไทยต้องดูถ่ายทอดสดฟรี ประกอบด้วย ซีเกมส์, อาเซียนพาราเกมส์, เอเชียนเกมส์, เอเชี่ยนพาราเกมส์, โอลิมปิกเกมส์, พาราลิมปิกเกมส์ และฟุตบอลโลก ทำให้ไม่มีภาคเอกชนรายใดกล้าลงทุนเข้าไปเจรจาซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) เจ้าของเกมการแข่งขันฟุตบอลโลก ทำให้ในทุกๆ วงรอบ 4 ปี รัฐบาลจึงจำเป็นต้องดิ้นรนหาเจ้าภาพหลักในการนำเงินจากภาครัฐ ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ไปซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกมาให้คนไทยได้ดูกันแบบฟรีๆ



ที่มาของภาพ : Getty Images
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport