สำหรับปราการหลังที่มีสถิติสูงสุด 80 ล้านปอนด์ก็เหมือนอุทธาหรณ์สอนว่าชีวิตคนก็แบบนี้ ชีวิตคนก็เท่านี้กับอีกค่ำคืนที่แฮร์รี่ แม็กไกวร์กลายเป็นเป้านิ่งของเกมประวัติศาสตร์150ปีระหว่างสกอตแลนด์กับอังกฤษ
ตั้งแต่ถูกส่งลงมาเป็นสำรองในครึ่งหลังก็โดนกองเชียร์วิสกี้ส่งเสียงแซวตลอดในทุกครั้งที่ได้บอล กระทั่งนาที 67 เสียงก็กระหึ่มกว่าเดิมเมื่อเขาสกัดบอลพลาดเข้าประตูตัวเอง
ในความที่รูปเกมของสิงโตเหนือกว่าทุกกระบวนด้วยสกอร์ที่นำไป 2-0 ก็จึงกลายว่าทำให้ทางเจ้าถิ่นมีกำลังใจกลับเข้ามาสู่เกม
กล้องแพนเข้าหาใบหน้าจืดๆ ของแม็กไกวร์ซึ่งเวลาเดียวกันนั้นเองที่ตามโลกโซเชี่ยลก็เต็มไปด้วยข้อความเย้ยหยันถึงกองหลังวัย 30 ผู้รับหมวกทีมชาติไปแล้ว 59 ใบ
ใครก็ตั้งข้อสงสัยได้แน่ว่าทำไมแกเร็ธ เซาธ์เกตถึงยังให้โอกาสนักเตะที่แทบไม่ได้มีส่วนร่วมกับแมนฯยูไนเต็ดเลยในรอบปีมานี้ เขาไม่ใช่ตัวสำรองธรรมดาแต่ตกไปเป็นชอยส์ลำดับ 4 หรือ 5 ไปแล้วในความคิดของ เอริค เทน ฮาก
"ผมเข้าใจได้ที่ทางสกอตแลนด์ทำ มันเป็นเรื่องปกติที่ฝ่ายตรงข้ามจะต้องมีมาก่อกวนแต่มันตลกตรงสิ่งที่เขาได้รับกับทางพวกเดียวกันเอง ผมไม่เคยเจอใครที่ถูกเลือกปฎิบัติเช่นนี้ จากคอมเมนเตเตอร์ตัวเอง, นักวิจารณ์ตัวเองและจากแฟนบอลตัวเอง เขาเป็นส่วนสำคัญของทีมชุดที่ประสบความสำเร็จสูงสุดรองแค่ชุดแชมป์โลก ผมพูดย้ำเสมอถึงความสำคัญตรงนี้ของนักเตะซีเนียร์ เราจำเป็นต้องมีแกนหลักยึด"
น่าจะเป็นครั้งแรกที่เซาธ์เกตออกมาให้สัมภาษณ์ด้วยท่าทีเกรี้ยวกราดแบบนี้นับแต่คุมอังกฤษ นี่ก็ชัดเจนถึงจุดยืนต่อให้กระแสด้านนอกถาโถมเข้าหาเขาหนักหน่วง
อย่าว่าแต่ส่งแม็กไกวร์ลงเลย แค่มีชื่อติดทีมก็โดนแล้ว
อย่างหนึ่ง-ความคิดของโค้ชกับแฟนบอลมักไม่ตรงกันมาแต่ไหนแต่ไร ทว่าต่อเคสนี้ก็มีน้ำหนักมากพอที่ตั้งคำถามถึงเซาธ์เกตได้ว่าไปติดใจอะไรกับแม็กไกวร์หนักหนา
อีกนั่นแหละในเกือบทุกครั้งก็ได้ที่เซาธ์เกตเองก็ตอบโต้เสียงวิจารณ์ได้อย่างยอดเยี่ยม จากไม่กี่วันก่อนผลเสมอยูเครน 1-1 ก็ตามมาด้วยชัยชนะงดงามเหนือชาติบ้านพี่เมืองน้อง 3-1
นาทีที่สกอตแลนด์กำลังพกความมั่นใจเต็มเปี่ยมหลังขึ้นนำในกลุ่มคัดเลือกไปยูโร 2024 ที่มีทั้งสเปนกับนอร์เวย์ (ของเออร์ลิ่ง ฮาลันด์และมาร์ติน โอเดอการ์ด) ด้วยสถิติชนะรวด
บรรยากาศในแฮมป์เด้น พาร์คก็ออกรูปนั้น อะไรที่โห่ได้ทางกองทัพตาร์ตันก็ไม่เคยเงียบโดยเฉพาะยิ่งตอนเพลง God Save The King บรรเลง...
การจัดตัวก็สะท้อนชัดเจนเมื่อสตีฟ คล้ากเลือกชุดดีที่สุดลง ส่วนเซาธ์เกตเปลี่ยนถึง 6 ตัวให้โอกาสผู้เล่นที่ไม่ค่อยมีส่วนร่วมเช่นอาร่อน แรมส์เดล, ลูอิส ดังก์จนไปถึงคาลวิน ฟิลลิปส์ได้ยืดเส้นยืดสายบ้าง
ตั้งแต่นาทีแรกถึงนาทีสุดท้ายก็ไม่ได้แตกต่างจากเดิม ใครจะแปลกใจที่หนสุดท้ายสกอตแลนด์ได้ฉลองชัยชนะเหนือเพื่อนบ้านในรังตัวเองก็ต้องย้อนไป 3 8ปีที่แล้ว
สกอตติช พรีเมียร์ลีกลีก v อิงลิช พรีเมียร์ลีกก็ห่างกัน
นักเตะสกอตแลนด์ v นักเตะอังกฤษก็ห่างกัน
ขณะที่ผู้มาเยือนในนามสิงโตสามตัวมีผู้เล่นไปค้าสตั๊ดให้เรอัล มาดริดบ้าง บาเยิร์น มิวนิคบ้างแต่สิบเอ็ดตัวแรกของทางเจ้าถิ่นยังมีที่ยังอยู่ในแชมเปี้ยนชิพอยู่เลย
หากฟุตบอลไม่เคยออกแบบได้ บ่อยไปที่ทีมรองก็พลิกโค่นทีมที่เป็นต่อได้
แต่ที่คาดเดาได้อยู่แล้วก็คือเป้านิ่งที่ชื่อแม็กไกวร์ มันเป็นความกดดันที่เจ้าตัวแบกไว้บ่นสองบ่ามานานแล้ว ลำพังที่หลุดไปอยู่บนม้านั่งสำรองให้ต้นสังกัดผีแดงก็ย่อมเจ็บปวด ตอนซัมเมอร์กำลังได้ย้ายไปเวสต์แฮมก็ดันเจรจาไม่ลงตัวรวมถึงนักเตะเองก็ยังอยากฮึดสู้อีกสักตั้งด้วย
ปัญหาก็ย่อมไม่ได้อยู่แค่ว่าการที่เขายังติดทีมชาติอังกฤษอยู่
ด้วยความเป็นแม็กไกวร์ให้ไปอยู่ไหนก็ย่อมเจอคนกลุ่มหนึ่งตามไปคุกคามในยุคที่ทุกอย่างถูกย่อไว้บนปลายนิ้ว
กองหลังราคาแพงสุดในโลก
อดีตกัปตันหนึ่งในสโมสรยิ่งใหญ่สุดในโลก
ฟันเฟืองตัวหลักของชาติที่เจ็บปวดซ้ำแล้วซ้ำเล่าแต่ก็เริ่มสลัดหลุดเงาดำได้นับแต่เซาธ์เกตเข้ามาทำทีม
แม็กไกวร์อาจมีบางคุณสมบัติบกพร่องไปแล้วในการเป็นตัวจริง ถึงกระนั้นโค้ชจะมองเห็นตรงกันไหมก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมของโค้ช
อกเขาอกเรา
เพราะถ้าเลือกได้ใครต่อใครก็ย่อมอยากเป็นคริสเตียโน โรนัลโด้บ้าง ลิโอเนล เมสซี่บ้างกันทั้งนั้น มันก็เหมือนในช่วงที่แมนฯยูไนเต็ดยิ่งใหญ่ที่สตาร์ชุดนั้นล้วนเป็นไอดอลให้เด็กๆ มากมายแต่ก็มีคำกล่าวหนึ่งโผล่ขึ้น
"ไม่มีใครหรอกโตขึ้นอยากเป็นแกรี่ เนวิลล์"
ตลกใช่ไหม อังกฤษชนะสวยงามในเกมที่ไม่ได้ง่าย ดาวเด่นได้แก่จู๊ด เบลลิ่งแฮ่ม น่าชมเชยเซาธ์เกตที่กล้าส่งนักเตะสำรองลงไปผสมแต่ตามริมฝีปากที่คนพูดถึงยังเป็นแม็กไกวร์
"ไก่ป่า"