นัดชิงเพลย์ออฟลีกล่างทั้ง 3 ระดับที่เวมบลีย์

นัดชิงเพลย์ออฟลีกล่างทั้ง 3 ระดับที่เวมบลีย์
สุดสัปดาห์นี้นอกจากนัดปิดฤดูกาลพรีเมียร์ลีกแล้ว เรายังจะได้บทสรุปเด็ดขาดสำหรับทีมสุดท้ายที่เลื่อนชั้นในลีกล่างทั้ง 3 ระดับอีกด้วยนะครับ

นัดชิงเพลย์ออฟที่เวมบลีย์..

วันเสาร์ นัดชิงเพลย์ออฟแชมเปี้ยนชิพ โคเวนทรี ซิตี้ พบ ลูตัน ทาวน์ ใครชนะเลื่อนชั้นขึ้นสู่พรีเมียร์ลีก

วันอาทิตย์ นัดชิงเพลย์ออฟลีกทู คาร์ไลส์ ยูไนเต็ด พบ สต๊อคพอร์ท เคาน์ตี้ ใครชนะเลื่อนชั้นขึ้นลีกวัน

วันจันทร์ นัดชิงเพลย์ออฟลีกวัน บาร์นส์ลี่ย์ พบ เชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์ ใครชนะเลื่อนชั้นขึ้นแชมเปี้ยนชิพ

รักใครเชียร์ใครก็ติดตามลุ้นกันครับ ผมอยากให้ โคเวนทรี ซิตี้ กับ เชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์ ได้เลื่อนชั้น ด้วยความคุ้นเคยกันมาแต่เก่าก่อนทั้งทีมช้างกระทืบโรงและนกเค้าแมว อันที่จริง ลูตัน ทาวน์ ก็เคยฝากความทรงจำในวัยเด็กให้เหมือนกันแต่งานนี้ขอเชียร์ทีมสกายบลูส์ล่ะครับ มิคกี้ ควินน์ และสกอร์ 5-1 ที่เคยถล่มลิเวอร์พูลยังฝังใจ

พูดถึงการเตะเพลย์ออฟแล้วมันถือเป็นช่วงที่เข้มข้นที่สุดอีกช่วงหนึ่งของฤดูกาลนะครับ

4 ทีมจากแต่ละลีกของสามลีกล่างจะมาชิงตั๋วเลื่อนชั้นใบสุดท้ายที่เหลืออยู่ใบเดียวกัน ฤดูกาลปกติจบแล้วแต่แฟนบอลของทีมเหล่านั้นยังได้เจอกับภาคต่อที่ตึงเครียดเขม็งเกลียวยิ่งกว่าซีซั่นที่เพิ่งจบลงไปเสียอีก

มันคือโอกาสสุดท้ายที่พวกเขาจะได้เลื่อนชั้นขึ้นไปสู่ลีกที่สูงกว่า

จากลีกทูสู่ลีกวัน จากลีกวันสู่แชมเปี้ยนชิพ จากแชมเปี้ยนชิพสู่พรีเมียร์ลีก

ผมตื่นเต้นเสมอเมื่อรอบเพลย์ออฟมาถึง สนใจมันทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการเพลย์ออฟในลีกใด เพราะมันคือการคลายปมสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่จากฤดูกาลที่ยาวนาน เป็นปมสุดท้ายที่แน่นที่สุดและถึงเวลาที่จะแกะมันเสียที

อันดับ 4-7 ในลีกทู ที่จะตาม แชมป์ รองแชมป์ และทีมอันดับสาม ขึ้นสู่ลีกวัน

อันดับ 3-6 ในลีกวัน ที่จะตาม แชมป์ กับ รองแชมป์ ขึ้นสู่แชมเปี้ยนชิพ

อันดับ 3-6 ในแชมเปี้ยนชิพ ที่จะตาม แชมป์ กับ รองแชมป์ ขึ้นสู่พรีเมียร์ลีก

รูปแบบการแข่งขันยังคงไม่ปรับเปลี่ยน เกมเพลย์ออฟของฟุตบอลอังกฤษยังเป็นระบบเหย้าเยือนในรอบรองชนะเลิศ ทีมที่อันดับดีที่สุดพบกับทีมที่อันดับแย่ที่สุด แล้วก็ทีมที่อันดับดีเป็นที่สองพบกับทีมที่อันดับดีเป็นที่สาม

ทีมอันดับ 4 เตะกับทีมอันดับ 7 และทีมอันดับ 5 เตะกับทีมอันดับ 6 ในเพลย์ออฟลีกทู ส่วนเพลย์ออฟลีกวันกับเพลย์ออฟแชมเปี้ยนชิพนั้นทีมอันดับ 3 เตะกับทีมอันดับ 6 และทีมอันดับ 4 เตะกับทีมอันดับ 5

ทีมที่อันดับเหนือกว่าในฤดูกาลปกติไม่มีเงื่อนไขใดได้เปรียบทีมที่อันดับแย่กว่าเลย พวกเขาเพียงได้สิทธิ์เล่นในบ้านเกมที่สองเท่านั้นซึ่งไม่ใช่ความได้เปรียบที่ชัดเจนใดๆ

ในบางลีกเกมเพลย์ออฟจะเตะกันนัดเดียวในบ้านของทีมที่อันดับดีกว่า หรือบางลีกเกมเพลย์ออฟเตะสองนัดก็จริงแต่ถ้าผลรวม 2 เกมเหย้าเยือนออกมาเป็นเสมอกัน ทีมอันดับดีกว่าจะเป็นฝ่ายชนะ

ผมชอบรูปแบบหลังสุดมากกว่า มันเป็นธรรมกว่าถ้าว่ากันในแง่การให้ความสำคัญกับผลงานในฤดูกาลปกติที่หวดกันยาวนาน 9 เดือน

บางครั้งคะแนนระหว่างทีมอันดับ 3 กับ 6 ห่างกันร่วม 20 แต้ม แต่ไม่มีความหมายอะไรเลยเมื่อมาถึงเกมเพลย์ออฟ ความแตกต่างนั้นถูกโยนทิ้งไปราวกับไม่เคยมีมันอยู่

ยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ ก็คือเกมเพลย์ออฟลีกวันคู่ปาฏิหาริย์แห่งฮิลล์สโบโร่ เชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์ ทีมอันดับ 3 โดน ปีเตอร์โบโร่ ยูไนเต็ด ทีมอันดับ 6 ถล่มมาในเกมแรก 0-4 แต่กลับไปเตะนัดที่สองไล่ต้อนคืน 4-0 ผลรวมสองนัดเสมอกัน 4-4

ระบบปัจจุบันคือต้องต่อเวลาออกไป ถ้ายังเสมอกันอยู่ก็ยิงจุดโทษตัดสินอย่างที่สุดท้ายเว้นส์เดย์เป็นผู้ชนะ แต่ถ้าเป็นระบบที่ให้น้ำหนักกับอันดับในลีก ทีมเค้าแมวจะผ่านเข้ารอบทันทีเมื่อจบ 90 นาทีที่ฮิลล์สโบโร่เพราะผลรวมเสมอกัน 4-4 แต่อันดับในลีกสูงกว่า

กระนั้นถ้ามองในแง่ของกติกา รูปแบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็ไม่มีอะไรผิด ด้วยมันคือกติกาที่ทุกทีมรับทราบและยอมรับตั้งแต่ก่อนก้าวเท้าลงสนามในนัดเปิดฤดูกาลที่ทุกอย่างยังเป็นศูนย์เท่ากัน ทุกทีมเข้าใจตรงกันว่าการจบฤดูกาลด้วยอันดับที่ 6 คือการได้ลมหายใจเฮือกสุดท้ายมาต่อชีวิต

จะมองถึงความเป็นธรรมในกติกานี้ ต้องมองตั้งแต่ก่อนเปิดฤดูกาล ไม่ใช่ระหว่างฤดูกาลหรือเมื่อจบฤดูกาลที่มองเห็นตารางคะแนนชัดเจนแล้ว

เพราะก่อนเปิดฤดูกาลไม่มีใครรู้ว่าผลงานของตัวเองจะเป็นอย่างไร ต่อให้เล่นดีแสนดีแต่หากมีทีมอื่นที่ดีกว่าโครงการเลื่อนชั้นที่วาดเอาไว้ก็อาจผิดแผนได้ เพราะฉะนั้นอันดับ 6 จึงเป็นโอกาสแก้ตัวที่ทางลีกมอบให้ทุกทีมเหมือนๆ กัน

ทุกทีมลงเตะภายใต้กติกาที่รับทราบร่วมกัน ใครจะรู้บางทีอาจเป็นเราก็ได้ที่หลุดวงโคจรเลื่อนชั้นอัตโนมัติและต้องดิ้นรนจนเกี่ยวอันดับ 6 ได้สำเร็จแบบเส้นยาแดงผ่าแปด

บางทีมันก็อาจเป็นเพราะมันคือกติกาที่ใช้กันมานาน อังกฤษได้ชื่อว่าเป็นวัฒนธรรมแบบคอนเซอร์เวถีฟ เป็นอนุรักษ์นิยม ไม่ค่อยเปลี่ยนอะไรง่ายๆ หรอก แนวทางที่ใช้กันมาถ้ามันไม่ได้แย่จนรับไม่ได้จริงๆ ก็ไม่มีความจำเป็นอะไรต้องไปเปลี่ยนมัน

ผมคิดว่าเรื่องการให้ความได้เปรียบที่จำเป็นกับทีมที่อันดับในลีกดีกว่าในเกมเพลย์ออฟน่าจะมีการหยิบมาคุยกันอยู่เรื่อยๆ ในแต่ละปี แต่ฟุตบอลลีก องค์กรที่กำกับดูแลลีกทั้ง 3 ระดับนี้ยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับหรือเปลี่ยนมัน

ทุกการตัดสินใจย่อมมีเหตุผลอยู่ในตัว บางทีพวกเขาอาจจะมองว่าโดยหลักการแล้วทีมที่อันดับเหนือกว่าในลีกก็น่าจะมีโอกาสมากกว่าอยู่แล้ว ก็ผลงานของคุณดีกว่านี่ คุณจบฤดูกาลด้วยคะแนนที่มากกว่า คุณก็ต้องดีกว่า เหนือกว่า

มันก็ถูกต้องและมีเหตุผลเข้าใจได้ มันไม่ใช่เรื่องจำเป็นยิ่งยวดว่าต้องเปลี่ยนเดี๋ยวนี้หรือเปลี่ยนทันทีหรอก อย่างที่บอกไปนั่นล่ะครับ ทุกทีมเข้าใจและยอมรับมันร่วมกันตั้งแต่ก่อนเปิดฤดูกาลแล้ว เพียงแต่ในความเห็นของผมก็ยังอยากให้ฟุตบอลลีกเปลี่ยนกฎเพิ่มความได้เปรียบให้ทีมที่อันดับเหนือกว่าอยู่ดี

ผมอยากเห็นระบบเพลย์ออฟที่ยังคงเตะกัน 2 นัดเหย้า-เยือน นัดแรกเตะในบ้านของทีมที่อันดับแย่กว่า นัดที่สองเตะกันในบ้านของทีมที่อันดับดีกว่า ถ้าผลรวม 2 เกมออกมาเสมอกัน ทีมอันดับดีกว่าจะเป็นผู้ชนะ

แต่ถ้าไม่เปลี่ยน.. ก็เข้าใจได้ จะอย่างไรเกมเพลย์ออฟมันก็มีความดุเดือดในตัวของมันเองอยู่แล้ว และการไม่มอบความได้เปรียบมากๆ ให้คู่แข่งขันทีมใดทีมหนึ่งก็อาจทำให้ความตื่นเต้นมากขึ้น ไม่ห่างกันจนเกินไปเช่นกัน

อยู่ที่ว่าเราจะมองกติกาเพลย์ออฟกันตอนที่ตัวเองยืนตรงไหน ถ้ามองมันตั้งแต่ก่อนเปิดฤดูกาลก็อาจจะเห็นอย่างหนึ่ง ถ้ามองมันตอนจบฤดูกาลปกติก็อาจจะเห็นอีกอย่างหนึ่ง ไม่มีวิธีไหนที่ถูกแน่ๆ หรือผิดแน่นอน

บางทีอาจเป็นสโมสรสมาชิกเองด้วยซ้ำที่โหวตเลือกเอากติกาที่ใช้กันอยู่ อย่าลืมว่าแต่ละลีกมีทีมร่วมฟาดแข้งมากถึง 24 ทีม นั่นหมายความว่าเพียง 1 ใน 4 ของทั้งหมดเท่านั้นที่มีโอกาสจบฤดูกาลด้วยการทำอันดับติดท็อปซิกซ์หรือพื้นที่ 6 อันดับแรก และจะมีทีมมากถึง 3 ใน 4 ที่อกหักต้องไปว่ากันใหม่อีกปี

การจบอันดับ 6 จากทั้งหมด 24 ทีม ไม่ได้ขี้เหร่อะไรและก็ควรจะได้สิทธิ์ที่เท่าเทียมกับทีมคู่แข่งหลังฤดูกาลปกติ แนวคิดนี้ก็เหมือนทีมที่ผ่านรอบคัดเลือกฟุตบอลโลกหรือฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปเข้าสู่รอบสุดท้ายแบบกระท่อนกระแท่นนั่นแหละ คุณอาจต้องดิ้นรนถึงขั้นเตะเพลย์ออฟแต่เมื่อได้ตั๋วมาแล้วก็รีเซ็ตใหม่ ไม่ต้องไปต่อความได้เปรียบให้ใครอีกในทัวร์นาเม้นต์

แชมป์จากรอบคัดเลือกโซนอเมริกาใต้ก็จะมีสิทธิ์เทียบเท่ากับทีมรองแชมป์กลุ่มที่ต้องหล่นไปเตะแก้ตัวในโซนยุโรปหรือทีมอันดับสามจากโซนคอนคาเคฟ ไม่มีความได้เปรียบอะไรแม้กระทั่งการถูกจับไปอยู่ในโถตอนจับสลาก

แชมป์จากโซนเอเชีย คอนคาเคฟ หรือโอเชียเนียอาจอยู่ในโถ 3 หรือ 4 ขณะที่ทีมอันดับ 5 จากโซนอเมริกาใต้หรือทีมรองแชมป์กลุ่มในโซนยุโรปที่เพลย์ออฟได้สิทธิ์เข้ามาอาจถูกจับไปอยู่โถ 1 ก็ได้

เพราะฉะนั้น ว่ากันถึงตอนนี้ รูปแบบการเพลย์ออฟของฟุตบอลอังกฤษยังคงเป็นเหมือนเดิม คืออันดับ 6 มีสิทธิ์เท่าอันดับ 3 เพียงเสียเปรียบเล็กน้อยมากๆ เท่านั้นกับการต้องเป็นฝ่ายไปเยือนในเกมที่สอง

จะมีการเปลี่ยนระบบเพลย์ออฟไหมคงต้องให้เป็นเรื่องของอนาคตครับ แต่ตอนนี้ความสนใจของแฟนบอลโคเวนทรี ลูตัน ทาวน์ เชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์ บาร์นส์ลี่ย์ คาร์ไลส์ ยูไนเต็ด และ สต๊อคพอร์ท เคาน์ตี้ นั้นพุ่งไปที่เวมบลีย์กันแล้ว และมันก็ยิ่งเข้มขึ้นๆ ทุกที

ตังกุย


ที่มาของภาพ : getty images
BY : ตังกุย
ณัฐพล ดำรงโรจน์วัฒนา
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport
X