อังกฤษไม่เคยมีความมั่นใจในการดวลจุดโทษตัดสิน..
นับจากครั้งแรกสุดที่ได้ลิ้มลองรสชาติของความกดดันมหาศาลแห่ง Penalty Shootout ทีมสิงโตคำรามก็คล้ายสิงโตหงอย ใจสั่นทุกคราเมื่อถึงคราวดวลเป้า
ไม่ว่าใครก็ไม่รอด เก่งกาจมาจากไหนก็ไม่ไหว
บ๊อบบี้ ร็อบสัน, เทอร์รี่ เวนาเบิลส์, เกล็น ฮ็อดเดิ้ล, สเวน โกรัน อีริคส์สัน, รอย ฮอดจ์สัน
ปีเตอร์ ชิลตัน, เดวิด ซีแมน, เดวิด เจมส์, พอล โรบินสัน, โจ ฮาร์ท
สจ๊วร์ต เพียร์ซ, คริส ว็อดเดิ้ล, พอล อินซ์, เดวิด แบ๊ตตี้, ดาริอุส วาสเซลล์, เจมี่ คาร์ราเกอร์, แอชลี่ย์ โคล, แอชลี่ย์ ยัง, มาร์คัส แรชฟอร์ด, เจดอน ซานโช่, บูกาโย่ ซาก้า
กระทั่งขุนพลตีนฉมังอย่าง เดวิด เบ็คแฮม แฟร้งค์ แลมพาร์ด หรือ สตีเว่น เจอร์ราร์ด ก็ยังฝันร้ายมาแล้วกับการทำหน้าที่เพชฌฆาตจากระยะ 12 หลาให้แผ่นดินแม่
ทีมชาติอังกฤษกับการยิงจุดโทษ เหมือนน้ำกับน้ำมัน ไม่เคยเข้ากันได้เลยสักที
ก่อนการเข้ามาของ แกเร็ธ เซาธ์เกต ทีมสิงโตคำรามแพ้กราวรูดถึง 5 ครั้งซ้อน ๆ ในการดวลจุดโทษตัดสินทัวร์นาเม้นต์ใหญ่ ทั้งฟุตบอลโลก และฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป
สถิติของทีมชาติอังกฤษก่อนการแต่งตั้งเซาธ์เกตเมื่อปี 2016 คือ แพ้ 6 จาก 7 ครั้งที่ยิงจุดโทษตัดสิน
ชนะแค่หนเดียวคือเหนือ สเปน ในรอบ 8 ทีมสุดท้ายศึกยูโร 1996 ที่เวมบลีย์
การชนะทีมกระทิงดุตอนนั้นทำให้สถิติของอังกฤษเป็น ชนะ 1 แพ้ 1 หลังพ่ายเยอรมันตะวันตกในการยิงจุดโทษรอบรองชนะเลิศฟุตบอลโลก 1990 ซึ่งเป็นครั้งประเดิมของพวกเขา
กระนั้นทัวร์นาเม้นต์ยูโร 1996 คราวนั้นอังกฤษก็ยังอุตส่าห์จบเส้นทางของตัวเองด้วยการแพ้จุดโทษต่อเยอรมันคู่ปรับเก่าอีกหนในรอบตัดเชือก
ก็เซาธ์เกตเองนั่นแหละไม่ใช่คนอื่นไกลที่ยิงมันไม่เข้า ถูก อันเดรียส ค็อปเค่ พุ่งปัดไว้ได้ก่อน อันเดรียส โมลเลอร์ จะตะบันเสียบใต้คานพร้อมท่าดีใจยียวนกวนประสาทบนน้ำตาชาวอังกฤษ
Football is not coming home ก็เพราะการดวลจุดโทษ..
ยิงกับใครไม่ยิงดันมายิงกับเยอรมัน.. ขนาด 5 คนแรกของอังกฤษที่เป็นฝ่ายยิงก่อนสามารถส่งบอลเข้าประตูได้ทั้งหมด นักเตะเยอรมันก็ยังใจหิน ยักไหล่ให้กับเสียงโห่เกรียวแสบหูของแฟนบอลในเวมบลีย์
ขุนพลด๊อยท์ชลันด์ยิงผ่านมือซีแมนไล่ตีเสมอได้ทั้ง 5 ลูก ก่อนจะมาเผด็จศึกเจ้าภาพในการดวลซัดเด้นเดธคู่แรก เซาธ์เกต-โมลเลอร์
สถิติยิงจุดโทษของแชมป์โลก 1 สมัยในเวลานั้นจึงกลายเป็น 1-2 คือชนะ 1 แพ้ 2
อันที่จริงการชนะ 1 แพ้ 2 จากการดวลจุดโทษ 3 ครั้งมันก็ไม่ได้แย่หรอกนะครับ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นต่างหากที่ทำให้สถิติการยิงจุดโทษตัดสินของอังกฤษอยู่ในระดับเลวร้าย
จะใช้คำว่าพังพินาศก็ได้..
ความพ่ายแพ้ต่อทีมอินทรีเหล็กเมื่อปี 1996 กลายเป็นจุดเริ่มต้นของคำสาปที่ยาวนาน มันตามมาด้วยการปราชัยอีก 4 ครั้งติดต่อกันเมื่ออังกฤษต้องสู้กับคู่แข่งถึงฎีกา
ยิงจุดโทษกับ อาร์เจนติน่า ในฟุตบอลโลก 1998.. แพ้
ยิงจุดโทษกับ โปรตุเกส ในยูโร 2004.. แพ้
ยิงจุดโทษกับ โปรตุเกส ในฟุตบอลโลก 2006.. แพ้
ยิงจุดโทษกับ อิตาลี ในยูโร 2012.. ก็แพ้
จาก 1-2 กลายเป็น 1-6..
ยิง 7 แพ้ 6.. ไม่มีใครย่ำแย่ไปกว่านี้อีกแล้ว
หากในยุคของ แกเร็ธ เซาธ์เกต ทุกอย่างเปลี่ยนไป
การทำงานอย่างจริงจังต่อการดวลจุดโทษตัดสิน หยิบมันขึ้นมาอยู่ในวาระที่ต้องทำ วางแผนการพัฒนาอย่างชัดเจน ให้ความสำคัญกับมันเป็นส่วนหนึ่งในอาวุธแห่งชัยชนะ
ไม่ได้ฝากผลการยิงจุดโทษไว้กับลมกับฟ้าเหมือนเก่า แต่เผชิญหน้ากับมันด้วยหัวใจที่พร้อม และการเตรียมตัวที่พร้อม
จากสถิติชนะ 1 แพ้ 6 หรืออัตราชนะแค่ร้อยละ 16.67 เซาธ์เกตเปลี่ยนอังกฤษให้เป็นทีมที่ยิงจุดโทษชนะ 2 จาก 3 ครั้งที่ดวลเป้า คิดเป็นร้อยละ 66.67
ยิงจุดโทษกับ โคลอมเบีย ในฟุตบอลโลก 2018.. ชนะ
ยิงจุดโทษกับ อิตาลี ในยูโร 2020.. แพ้
ยิงจุดโทษกับ สวิตเซอร์แลนด์ ในยูโร 2024.. ชนะ
แน่นอนครับเราไม่อาจมั่นใจได้หรอกว่าถ้าต้องยิงจุดโทษกับใครอีก อังกฤษจะยังชนะได้เหมือนที่ชนะโคลอมเบียกับสวิตเซอร์แลนด์ไหม แต่ที่แน่ ๆ การสังหารจุดโทษในหนล่าสุดทีมสิงโตคำรามดูดีมาก
เพชฌฆาตทั้ง 5 คนต่างส่งบอลเข้าซุกก้นตาข่ายได้ทั้งหมด และต่างก็สังหารมันอย่างเด็ดขาด เฉียบคม และเยือกเย็น สมกับที่โดยปกติก็รับหน้าที่สำคัญกับสโมสรต้นสังกัดในการยิงจุดโทษหรือรับผิดชอบลูกนิ่งทั้งหลาย
โคล พาลเมอร์, จู๊ด เบลลิงแฮม, บูกาโย่ ซาก้า, ไอแวน โทนี่ย์ และ เทรนต์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์
ไม่มี แฮร์รี่ เคน ที่เจ็บถูกเปลี่ยนตัวออกไปก่อนก็ไม่เป็นไร อังกฤษในตอนนี้พร้อมถึงขนาดนั้นสำหรับการยิงจุดโทษ
เป็นภาพที่ไม่เคยเห็นมาก่อนเหมือนกันนะครับสำหรับทีมทรีไลอ้อนส์ ไม่ว่าจะยุคไหนสมัยไหน
สำหรับศึกยูโรครั้งนี้ และอาจรวมถึงบทบาทหน้าที่ของ แกเร็ธ เซาธ์เกต กับตำแหน่งผู้จัดการทีมชาติอังกฤษ มันยังเหลืออีก 1 เกมเป็นอย่างน้อย และ 2 เกมเป็นอย่างมาก
ถ้าอังกฤษได้โอกาสยิงจุดโทษตัดสินอีก มันคงมีความรู้สึกที่สัมผัสได้ว่ากองเชียร์ของพวกเขาจะมีความมั่นใจยิ่งกว่าอดีตที่ผ่านมา..
ตังกุย