ทีมชาติ โปรตุเกส ลอยลำเข้ารอบน็อกเอาต์ศึก ยูโร 2024 เป็นการล่วงหน้าได้แล้วหลังลงเล่นเกมที่สองของรอบแบ่งกลุ่มเมื่อวันเสาร์ที่ 22 มิ.ย.ไล่ขยี้ ตุรกี ได้อย่างง่ายดาย 3-0 คว้าไปแล้วหกแต้มเต็มพร้อมการันตีแชมป์กลุ่มแม้ว่า คริสเตียโน่ โรนัลโด้ กองหน้าคนสำคัญจะยังเท้าบอดในทัวร์นาเมนต์นี้ แต่ไม่เป็นปัญหาสำหรับทีมฝอยทองที่เล่นได้เหนือกว่าทีมเติร์กหลายขุมก่อนซิวชัยไปแบบสบายเกือก
1. เติร์ก สลับทัพอื้อส่งประตูผีเฝ้าเสา
ตุรกี ซึ่งเอาชนะ จอร์เจีย มาได้ 3-1 ในเกมแรกเปลี่ยนโผตัวจริงมากถึงสี่รายโดยเกมนี้กุนซือ วินเชนโซ่ มอนเตลล่า เลือกใช้งาน อัลตาย บายินดีร์ ผู้รักษาประตูทีม แมนฯ ยูไนเต็ด เฝ้าตาข่ายแทนที่ เมิร์ต กูน็อก
นอกจากนี้ อาร์ด้า กือแลร์ ดาวเตะทีม เรอัล มาดริด ที่กระทุ้งประตูให้ทีมแซงนำ จอร์เจีย 2-1 หลุดไปนั่งข้างสนามเนื่องจากมีปัญหาบาดเจ็บเล็กน้อย
สำหรับอีกสามรายที่ได้ออกสตาร์ตเกมนี้ประกอบไปด้วย เซกี เซลิก ,ยูนุส อัคกุน และ เคริม อัคตูร์โคกลู โดยที่ เซงค์ โตซุน อดีตกองหน้า เอฟเวอร์ตัน รับบทตัวสำรอง
ด้าน ฮาคาน ซัลฮาโนกูล คีย์แมนของทีมลงเล่นเกม ยูโร รอบสุดท้ายเป็นนัดที่ 7 โดยเป็นรองแค่ รุสตู เร็คเบอร์ กับ ฮาคาน บัลต้า ที่ลงเล่นในรายการนี้ให้กับประเทศมากที่สุด 9 และ 8 นัดตามลำดับ
2. ฝอยทองเปลี่ยนรายเดียวดร็อปกองหลังผีแดง
โรเบร์โต้ มาร์ติเนซ นายใหญ่ทีมชาติ โปรตุเกส โรเตชั่นทีมจุดเดียวจากเกมแซงชนะ สาธารณรัฐเช็ก แบบหืดจับ 2-1 ในช่วงทดเวลาโดย ชูเอา ปาลินญ่า สตาร์ทีม ฟูแล่ม ได้ลงเล่นก่อนหน้า ดีโอโก้ ดาโลต์ แบ็คขวาทีม แมนฯ ยูไนเต็ด
สำหรับ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ กองหน้าจอมเก๋ายังได้ลงเล่นเป็นตัวจริงเช่นเดิมโดยที่ ดีโอโก้ โชต้า ศูนย์หน้า ลิเวอร์พูล นั่งรอที่ริมสนามพร้อมถูกเปลี่ยนตัวลงไปพลิกสถานการณ์เหมือนเกมแรก
อย่างไรก็ดี โปรตุเกส อยู่ในช่วงมีฟอร์มที่น่าจับตามองเนื่องจากพวกเขาคว้าชัยได้มากถึง 14 จาก 16 นัดหลังโดยที่ยังไม่แพ้ใคร
3.ตำแหน่งต้องห้าม (เปลี่ยน)
โปรตุเกส เจองานง่ายกว่าเกมแรกเมื่ออาศัยเวลา 21 นาทีก็ทะลวงประตูนำ ตุรกี 1-0 ได้สำเร็จจากการตะบันของ แบร์นาร์โด้ ซิลวา
จากการลงเล่นให้ทีมชาตินัดนี้เป็นนัดที่ 91 ดาวเตะทีม แมนฯ ซิตี้ สอยตาข่ายได้เป็นประตูที่ 12 แต่เป็นประตูแรกของเขาในทัวร์นาเมนต์ใหญ่จากการลงสนามเป็นนัดที่ 15 โดยสถิติเผยว่า โปรตุเกส ชนะรวด 11 นัดก่อนหน้านี้หาก ซิลวา เช็กบิลได้
อย่างไรก็ดี ทีมฝอยทองหนีห่างเป็น 2-0 ในนาทีที่ 28 จากการส่งบอลเข้าประตูตัวเองของ ซาเม็ต อาคายดิน กองหลังเติร์กซึ่งจ่ายบอลคืนนายทวารโดยไม่ได้มองขณะที่ บายินดีร์ ทะเล่อทะล่าออกมานอกเส้นประตูประตูเยอะอย่างไม่จำเป็นจนกลายเป็นการมอบของขวัญให้กับฝ่ายตรงข้ามอย่างน่าเขกกระโหลก
สำหรับประตูที่ว่านี้ แม้อาจเข้าข่ายประมาทร่วม แต่บอกได้เลยว่า บายินดีร์ ผิดเต็มประตูเนื่องจากสถานการณ์ในจังหวะนั้นไม่มีอะไรให้น่ากดดัน เขาจึงไม่มีความจำเป็นต้องขยับออกมานอกเส้นประตูมากขนาดนั้นเพราะมันเป็นสถานการณ์ที่กองหลังสามารถส่งบอลคืนหลังได้ตามปกติหากผู้รักษาประตูจะไม่เฟอะฟะอย่างที่เห็น
แต่ก็อย่างว่า มอนเตลล่า อาจตัดสินใจพลาดด้วยที่ส่ง บายินดีร์ ลงเล่นเกมนี้ทั้งๆที่ปกติแล้วโค้ชโดยทั่วไปไม่คิดเปลี่ยนตัวนายทวารกันสักเท่าไหร่ ยกเว้นก็แต่ว่า กูน็อก จะมีปัญหาทางด้านความฟิตเพราะจริงๆแล้วอดีตนายทวารทีม เฟเนบาห์เช่ ได้เฝ้าเสาให้ ผีแดง ซั่นก่อนแค่เกมเดียวเท่านั้นในศึก เอฟเอคัพ เดือนม.ค.นับตั้งแต่ย้ายมาร่วมทีมดังของ โรงละครแห่งความฝัน ซึ่งชัดเจนว่าเขาร้างสนามไปนาน และไม่ควรถูกปล่อยลงบู๊ในเกมที่ต้องต่อกรกับทีมที่แข็งแกร่งอย่าง โปรตุเกส อันทำให้มือกาววัย 26 ปีซึ่งลงเล่นให้ทีมชาติเป็นเกมที่สิบน่าจะออกอาการตื่นสนามกระทั่งก่อความผิดพลาดอย่างไม่สมควร
ขณะเดียวกัน ประตูของ อาคายดิน เป็นการส่งบอลตุงตาข่ายตัวเองจากหน้าเขตโทษในประวัติศาสตร์ของฟุตบอล ยูโร เป็นประตูที่สองด้วยต่อจากที่ เปดรี้ ทำเอาไว้ก่อนในเกมระหว่าง สเปน กับ โครเอเชีย ในปี 2020
4. เฮียโด้เท้าบอดแต่ควบ2สถิติ
หลังจบครึ่งแรกโดยมีสกอร์นำหน้าชนิดหายห่วง2-0 โปรตุเกส ก็มาเพิ่มเม็ดสามได้ในนาทีที่ 55 โดยจังหวะนี้ โรนัลโด้ หลุดเดี่ยวตีคู่ไปกับ บรูโน่ แฟร์นันด์ส แต่แทนที่จะกระทุ้งเองตามนิสัยปกติ ซีอาร์เซเว่น กลับแสดงความใจกว้างจ่ายให้กองกลางทีม แมนฯ ยูไนเต็ด ซัดเม็ดปิดกล่อง
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเกมแรกของฟุตบอล ยูโร ที่นักเตะ แมนฯ ซิตี้ และ แมนฯ ยูไนเต็ด ต่างก็เช็กบิลได้ในเกมเดียวกันโดย แฟร์นันด์ส ซัดประตูที่ 10 ให้แผ่นดินเกิดแล้วจากการลงสนาม 14 นัดหลัง
ขณะเดียวกัน แฟร์นันด์ส เป็นนักเตะรายที่สี่ของศึก ยูโร ที่สอยตาข่ายเพื่อนร่วมสโมสรได้
-อัลบาโร่ โมราต้า (สเปน) - วอยเซียก เซสนีย์ (โปแลนด์) - ยูเวนตุส , 2020
-ซามีร์ นาสรี่ (ฝรั่งเศส) - โจ ฮาร์ท (อังกฤษ) - แมนฯ ซิตี้ , 2012
- พอล แกสคอยน์ (อังกฤษ) - แอนดี้ โกแรม (สกอตแลนด์) - เรนเจอร์ส , 1996
สำหรับ โรนัลโด้ ถึงตอนนี้เขายังไม่ได้นับหนึ่งในเกม ยูโร 2024 เลย แถมสร้างสถิติที่ไม่พึงประสงค์ด้วยจากการเป็นพ่อค้าแข้งที่มีโอกาสสับไกมากที่สุดจากสองนัดรวม 9 ครั้ง แต่ยังทำประตูไม่ได้
อย่างไรเสีย สตาร์ทีม อัล นาสเซอร์ สร้างสถิติอีกด้านได้ด้วยการเป็นนักเตะที่แอสซิสต์มากที่สุดในเกม ยูโร เป็นที่เรียบร้อยแล้วจากจำนวน 8 ประตู แม้จะยังคลำเป้าหยุดอยู่ที่ 14 ประตู
5. กือแลร์ เดอะ แบกทีมเติร์ก
แม้จะมีอายุแค่ 19 ปี แต่ กือแลร์ แสดงให้เห็นว่าเป็นตัวแบกความหวังของ โปรตุเกส ไปแล้วหลัง มอนเตลล่า ตัดสินใจส่งเขาลงเล่นในช่วง 20 นาทีสุดท้ายซึ่งปรากฏว่าดาวเตะทีม เรอัล มาดริด ขโมยซีนได้อย่างเหลือเชื่อแม้จะไม่อาจพลิกสถานการณ์ให้ทีมเติร์กได้ก็ตาม
นั่นเป็นเพราะนับจากนาทีที่ 70 ที่ได้ลงสนาม กือแลร์ ไม่ทำให้แฟนบอลเติร์กผิดหวังจากการผ่านบอลทะลุช่องเข้าพื้นที่สุดท้ายของคู่แข่งได้แบบ 100% จากทั้งหมดห้าครั้ง
และแน่นอนว่าในเกมนี้ไม่มีนักเตะคนไหนที่มีผลงานจ่ายบอลเฉียบขาดมากไปกว่า กือแลร์ ตลอดทั้ง 90 นาทีซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่าเกมสุดท้ายของรอบแบ่งกลุ่มที่ ตุรกี จะดวลกับ สาธารณรัฐเช็ก ในวันที่ 26 มิ.ย.มอนเตลล่า คงไม่คิดเก็บเจ้าหนูตัวทีเด็ดเอาไว้ที่ซุ้มม้านั่งข้างสนามอีกแน่
ขณะเดียวกัน แม้จะพ่าย โปรตุเกส ขาดลอย แต่สถิติหลังเกมบ่งชี้สิ่งที่น่าสนใจออกมาเนื่องจากทีมเติร์กครองบอลเป็นรองก็จริงจากสัดส่วน 56.6%:43.4% แต่พวกเขาได้ยิงประตูมากถึง 11 ครั้งน้อยกว่าทีมฝอยทองครั้งเดียวเท่านั้น แถมส่งบอลเข้ากรอบ 3 ครั้งเท่ากันอีกต่างหาก