เกมนัดเปิดหัวยูโร 2024 ที่ สเปน อัด โครเอเชีย 3-0 เห็นได้ชัดเลยนะครับว่านี่คือ สเปน ที่แตกต่าง สวนกับภาพจำเดิมๆของแฟนๆ
การครอบครองบอลที่เคยเป็นจุดเด่นลดน้อยลง พาสซิ่งน้อยลง บางช่วงเวลาปล่อยให้ทัพโครแอตครองบอลลำเลียงเกมเข้าหา
เกมแพลน
เมื่อไม่มีบอล ขึ้นเพรสซิ่งสูง เร็ว ดุดัน ไปแบบพร้อมเพรียง บี้โหดถึงหน้ากรอบเขตโทษ ทำถึงในทุกจังหวะ
เท่านั้นไม่พอ แดนกลางยังเดินชิดติดมิดฟิลด์โครแอตไม่ให้พลิกง่ายๆ เรียกว่า ข้างบนเพรสแล้ว ตรงกลางก็ขยับบีบเพรสตามอีกชั้น
นั่นทำให้ถึงแม้ โบรโซวิช,โมดริช และ โควาซิช จะพอเอาตัวรอดได้บ้าง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เกมไม่เดินหน้า เสียเวลาย้อนหลัง
ในทางตรงกันข้าม ทุกครั้งที่โดน สเปน ตัดได้ ความอันตรายเกิดขึ้นทันที เด็กๆของ เด ลาฟวนเต้ คุกคาม โครเอเชีย อย่างหนักหน่วง ..........................
ในยามที่เป็นฝ่ายครอบครองบอล
สเปน กล้าได้กล้าเสียมากขึ้น เน้นการโจมตีทางริมเส้น ปีกเร็ว สด ทักษะเป็นเลิศ ตัวต่อตัวเมื่อไหร่ ไม่ลังเล ลงมือทันที กระนั้นหากกลางคู่ต่อสู้หลวม ก็พร้อมแทงทะลุช่องขึ้นหน้าได้ในพาสเดียว
ด้วยวิธีการเล่นที่เปลี่ยนไป ครองบอลน้อยลง ลังเลน้อยลง กล้าได้กล้าเสียมากขึ้น จึงพาให้เกิดสถิติที่ไม่ได้เห็นมาเนิ่นนาน นั่นคือ สเปน ครองบอลน้อยกว่าคู่ต่อสู้
ในเกมเมื่อคืนวันเสาร์ สเปน ครองบอล 47% ขณะที่ โครเอเชีย ของ ซลัตโก ดาลิตช์ ครองบอล 53% ซึ่งถือเป็นหนแรกในรอบ 112 เกม และที่แปลกยิ่งกว่านั้นก็คือ สเปน พาสบอลน้อยกว่าที่ 388 ครั้งต่อ 463 ครั้ง
หนสุดท้ายที่ สเปน ครองบอลน้อยกว่าคู่ต่อสู้ เกิดขึ้นในเกมกระชับมิตรที่ บาไลดอส เมืองบีโก้ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2014 หรือเกือบ 10 ปีมาแล้ว
วันนั้น สเปน ของ บิเซนเต้ เดล บอสเก้ ครองบอล 47.2% ส่วน เยอรมัน ของ โยอัคคิม เลิฟ ครองบอล 52.8%
ผลลงเอย สเปน พ่ายคาบ้าน 0-1 และผู้ทำประตูก็ไม่ใช่ใครที่ไหน...โทนี่ โครส นั่นเอง ยิงได้นาที 89
โยเอล เดล รีโอ นักข่าวมาร์ก้าแสดงความเห็นในบทความของตัวเองว่า ความพ่ายแพ้ในวันนั้นยิ่งทำให้ สเปน เชื่อฝังหัวว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่พวกเขาครองบอลน้อยกว่าคู่ต่อสู้ เมื่อนั้น "พวกเขาจะแพ้"
นั่นเองจึงทำให้ถึงแม้จะผ่านช่วง golden generation สเปน ก็ยังตะบี้ตะบันเน้นไปที่ครอบครองบอล ไม่เปลี่ยนแปลง
ในทัวร์นาเมนท์ระดับเมเจอร์ บางเกมพวกเขาพาสบอลไปมาถึง 1,000 ครั้ง (หรือมากกว่า) เช่นเกมกับ อิหร่าน ,โมร็อกโก ในฟุตบอลโลก 2018
หรือเกมกับ ญี่ปุ่น ในรอบแรก และ โมร็อกโก ในรอบน็อคเอาท์ 16 ทีมฟุตบอลโลก 2022
แต่ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่ทำให้ สเปน ตกรอบก็คือความเด็ดขาดในจังหวะสังหาร ซึ่งส่วนนึงมาจากความกลัวที่จะเสียการครอบครองบอล จึงไม่กล้าเสี่ยง
สำหรับ สเปน ชุดที่ผ่านๆมา หากโอกาสไม่ชัดเจนจริงๆ พวกเขาจะไม่เข้าทำ แต่มาวันนี้ พวกเขาพร้อมบวก พร้อมลุยเมื่อเห็นโอกาส พร้อมๆกับยักไหล่ให้กับเปอร์เซนต์การครองบอล
"ปัญหาของเราคือนานมากแล้วที่เราไม่ได้คิดนอกรอบ, ตีกิ-ตากะ เคยเป็นเรือธงของเรา หากไม่นำมันมาด้วยจะถูกมองว่าเป็นความผิด แต่นั่นแหละคือความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่สุด ทำให้เราไม่รู้จักปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย "
โรดรี้ ให้สัมภาษณ์หลังเกมเมื่อถูกนักข่าวถามถึงสไตล์ที่เปลี่ยนไป
กระนั้นก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นในเกมที่ เบอร์ลิน หาใช่ ทุกมิติของ สเปน ชุดนี้ไม่
เด ลา ฟวนเต้ ยืนยันว่า สเปน ไม่ได้ตั้งใจละทิ้งการครองบอล หากเพียงแต่ใช้กลยุทธ์ที่เหมาะสมกับคู่ต่อสู้ก็เท่านั้น ทุกอย่างปรับเปลี่ยนได้เสมอ ขึ้นอยู่กับว่า "วันนั้นเราต้องการอะไร"
ดังนั้นบทสรุป สเปน ยุคนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็น สเปน ที่ไม่ยึดติด
เมื่อฉีกตัวเองออกมานอกกรอบได้ ก็สามารถเดินกลับเข้าสู่กรอบได้เช่นกัน หากเห็นว่ามันเป็นสิ่งเหมาะสมกับสถานการณ์ตรงหน้า
เจมส์ลาลีกา