แสงสว่างจากปลายอุโมงค์! กีฬาสนุกเกอร์กับกีฬาเอเชียนเกมส์

แสงสว่างจากปลายอุโมงค์! กีฬาสนุกเกอร์กับกีฬาเอเชียนเกมส์
ใกล้เข้ามาแล้ว สำหรับมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวเอเชีย อย่างเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 19 ระหว่างวันที่ 23 กันยายน-8 ตุลาคมนี้ ณ นครหางโจว ประเทศจีน โดยบางชนิดกีฬาจะเริ่มทำการแข่งขันก่อนตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2566 อาทิ วอลเลย์บอลชายหาด วอลเลย์บอลทีมชาย และฟุตบอลชาย เป็นต้น

เชื่อว่าแฟนกีฬาสอยคิวจำนวนไม่น้อย คงรู้สึกใจหายไปตามๆกัน ที่หางโจวเกมส์คราวนี้ นับเป็นเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 3 ติดต่อกันเข้าให้แล้ว ที่ไม่มีชนิดกีฬาคิวสปอร์ต (สนุกเกอร์,บิลเลียด,พูล และแครอมบอล) อยู่ในสารบบชิงเหรียญทอง ต่อจากเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 17 ที่เมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อปี 2014 และเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 18 ณ กรุงจาการ์ตากับเมืองปาเล็มบัง ประเทศอินโดนีเซีย 

หนสุดท้าย ที่กีฬาแม่นรูยังชิงชัยในมหกรรมกีฬาแห่งทวีปเอเชีย ต้องย้อนกลับไป ในเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 10 ณ เมืองกวางโจว ประเทศจีน ในปี 2010 หรือเมื่อ 13 ปีที่แล้วเลยทีเดียว และยังไม่รู้ว่า ต้องรออีกนานแค่ไหน กีฬาคิวสปอร์ตถึงจะได้รับการบรรจุ ให้เข้าสู่การชิงเหรียญทอง ในกีฬาเอเชียนเกมส์อีกครั้ง

เรื่องนี้ ทำให้นึกถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งอดีต กว่าที่กีฬาแม่นรูจะเข้าบรรจุในเอเชียนเกมส์ได้นั้นมันไม่ง่ายเลย

ย้อนกลับไปเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ในช่วงต้นของยุค 90 สภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย(OCA) ได้มีมติให้ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 ในปี 1998 ณ เพลานั้น สนุกเกอร์กำลังบูมสุดขีดในบ้านเรา จากผลงานของ "ต๋อง ศิษย์ฉ่อย" วัฒนา ภู่โอบอ้อม ซึ่งเป็นชาวเอเชียคนแรก ที่ทำผลงานได้ผงาดวงการคิวโลก จนขึ้นไปครองอันดับ 3 ของโลกมาแล้ว

ทำให้ "บิ๊กสิน" สินธุ พูนศิริวงศ์ นายกสมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย ในเวลานั้น ได้ทุ่มเททุกสรรพกำลังอย่างเต็มที่ เพื่อให้สนุกเกอร์ถูกบรรจุในเอเชียนเกมส์ครั้งดังกล่าวให้ได้ ก่อนจะทำได้สำเร็จ โดยสภาโอลิมปิกแห่งเอเชียได้มีข้อแม้ว่า ต้องบรรจุบิลเลียด, พูล และแครอมบอลเข้ามาด้วย เนื่องจากอยู่ในหมวดหมู่กีฬาคิวสปอร์ตเหมือนกัน

นับแต่นั้นเป็นต้นมา กีฬาแม่นรูถูกบรรจุชิงชัยในเอเชียนเกมส์ถึง 4 ครั้ง ประกอบด้วยเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 ที่ประเทศไทยเมื่อปี 1998, เอเชียนเกมส์ครั้งที่ 14 ณ เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้, เอเชียนเกมส์ครั้งที่ 15 ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ และเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 16 ณ นครกวางโจว ประเทศจีน ในปี 2010

ทว่าพอถึงปี 2012 จุดเปลี่ยนสำคัญได้มาถึง เมื่อคุณสินธุ ที่ช่วงนั้นนั่งเก้าอี้ประธานสมาพันธ์บิลเลียดแห่งเอเชียมาแล้วถึง 6 สมัย ต้องเสียตำแหน่งนี้ให้กับ ฮารี่ คูนี่ คู่แข่งจากจอร์แดนไปอย่างพลิกล็อก หลังแพ้คะแนนโหวตไป 11-16 เสียง ในการเลือกตั้งประธานสมาพันธ์บิลเลียดแห่งเอเชีย(ACBS) ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์

มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า หลายชาติย่านตะวันออกกลางที่ร่ำรวยกันอยู่แล้ว ได้รวมหัวกันโค่น "บิ๊กสิน" ด้วยการซื้อเสียงจากชาติสมาชิกเพื่อให้ ฮารี่ คูนี่ แย่งตำแหน่งประธานสมาพันธ์บิลเลียดแห่งเอเชียมาจากคุณสินธุให้ได้ ก่อนจะทำได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเม็ดเงินมหาศาลแต่ ฮารี่ คูนี่ และพวกพ้องหลายชาติแห่งย่านตะวันออกกลาง กลับบริหารงานไม่เป็น ปล่อยให้กีฬาคิวสปอร์ตหลุดจากเอเชียนเกมส์ โดยถูกลดสถานะให้มาชิงชัยในกีฬาเอเชียนอินดอร์แอนด์มาร์เชียลอาร์ทเกมส์เท่านั้น

แม้จะเป็นมหกรรมกีฬาของทวีปเอเชียเหมือนกัน แต่เอเชียนเกมส์มีศักดิ์ศรีเหนือกว่ามาก อีกทั้งอัตราการได้เงินอีดฉีดจากกองทุนพัฒนากีฬาชาติของทัพนักกีฬาไทย แตกต่างกันราวฟ้ากับเหวนรก โดยเหรียญทองเอเชียนเกมส์ได้ถึง 2 ล้านบาท, เหรียญเงิน 1 ล้านบาท และเหรียญทองแดง 5 แสนบาท 

ขณะที่เหรียญทองเอเชียนอินดอร์แอนด์มาร์เชียลอาร์เกมส์ ได้เพียง 3 แสนบาท, เหรียญเงิน 1.5 แสนบาท และเหรียญทองแดง 75,000 บาท ซึ่งเป็นเรตเดียวกับการคว้าเหรียญรางวัลในกีฬาซีเกมส์ ทั้งๆที่ในเอเชียนอินดอร์แอนด์มาร์เชียลอาร์ทเกมส์ เป็นเวทีที่ยากกว่าหลายเท่า

ถึงตรงนี้ เชื่อว่าคนในวงการสอยคิว และสาวกกีฬาแม่นรูจำนวนไม่น้อย ต่างรู้สึกน้อยใจไปตามๆกัน ที่คิวสปอร์ต (สนุกเกอร์, บิลเลียด, พูล และแครอมบอล) ไม่ได้ชิงชัยในกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 19 ที่กำลังจะอุบัติขึ้น เหมือนดั่งชนิดกีฬาอื่นเขา

ได้แต่หวังลึกๆว่า เอเชียนเกมส์ครั้งถัดไปในปี 2026 ณ เมืองนาโกย่า-ไอจิ ประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ จะกลับมาบรรจุกีฬาคิวสปอร์ตเข้าชิงชัยอีกครั้ง ซึ่งยังพอมีความหวังอยู่บ้าง เพราะในแดนอาทิตย์อุทัย นิยมเล่นพูลกัน และในทัวร์นาเมนต์พูลระดับนานาชาติหลายรายการ ก็มีนักแทงลูกลายเลือดซามูไรไปแข่งขันกันหลายคน

เอเชียนเกมส์ครั้งถัดจากนั้นในปี 2030 ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ เริ่มจะมีแสงสว่างจากปลายอุโมงค์ เนื่องจาก มูบารัค อัล คายาริน ประธานสหพันธ์บิลเลียดและสนุกเกอร์นานาชาติ(IBSF) ซึ่งเป็นชาวกาตาร์ ได้ประกาศกร้าวแล้วว่า จะทำทุกวิถีทาง ในการผลักดันให้กีฬาแม่นรู กลับเข้ามาอยู่ในสารบบชิงเหรียญทอง ในเอเชียนเกมส์ครั้งดังกล่าวที่บ้านเกิดของตัวเองให้ได้

แม้จะต้องรอนานอีกหลายปี แต่อย่างน้อยสาวกคิวสปอร์ตทั้งหลาย ยังพอได้รับข่าวดี และมีโอกาสได้เห็นกีฬาแม่นรู กลับมาชิงชัยในมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์อีกครั้ง

สำหรับผลงานที่ดีที่สุดของทัพนักสอยคิวไทย ในกีฬาเอเชียนเกมส์ คือการคว้ามาได้ 3 เหรียญทอง ประกอบด้วย 2 เหรียญทองในเอเชียนเกมส์ 2002 ที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้จาก "รมย์ สุรินทร์" ประพฤติ ชัยธนสกุล จากบิลเลียดเดี่ยว, "รมย์ สุรินทร์" ประพฤติ ชัยธนสกุล กับ "ตึ้ก โคราช" มงคล กั้นฝากลาง จากบิลเลียดคู่ และ 1 เหรียญทองในเอเชียนเกมส์ 2006 ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์จาก "รมย์ สุรินทร์" ประพฤติ ชัยธนสกุล กับ "ดร เมืองชล" อุดร ไข่มุกข์ จากบิลเลียดคู่ 

เรียกได้ว่าทั้ง 3 เหรียญทอง "รมย์ สุรินทร์" เจ้าของฉายา "ก้มเป็นลง" ในอดีต มีเอี่ยวทั้งหมด ขณะที่การคว้าเหรียญทองบิลเลียดคู่ในเอเชียนเกมส์ 2002 ยังทำให้ "ปู่ตึ้ก โคราช" ที่ปัจจุบันได้ล่วงลับไปแล้ว สร้างประวัติศาสตร์ ด้วยการเป็นนักกีฬาที่อายุมากที่สุด ที่คว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์อีกด้วย ด้วยวัย 72 ปี ปัจจุบันสถิตินี้ยังไม่ถูกทำลาย


ที่มาของภาพ : -
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport